ข่าวประชาสัมพันธ์

สหราชอาณาจักรตั้งกระทรวงการต่างประเทศและการพัฒนา มุ่งนำนานาชาติปกป้องประเทศยากจนจากโรคระบาดและความอดอยาก

รัฐมนตรีต่างประเทศกระตุ้นให้ชาติต่าง ๆ เดินไปพร้อมสหราชอาณาจักรในการเพิ่มความพยายามรับมือปัญหาโรคระบาดโควิด-19 และภัยเสี่ยงจากภาวะขาดแคลนอาหารในประเทศกำลังพัฒนา

A child wearing a face mask to protect against coronavirus in the Democratic Republic of the Congo. Picture: UNICEF

A child wearing a face mask to protect against coronavirus in the Democratic Republic of the Congo. Picture: UNICEF

นายโดมินิค ราบ รัฐมนตรีต่างประเทศสหราชอาณาจักรประกาศในวันนี้ (2 กันยายน 2563) ว่าสหราชอาณาจักรจะเป็นผู้นำเรียกร้องให้นานาชาติช่วยกันปกป้องประชาชนในประเทศยากจนจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 และภัยคุกคามจากภาวะขาดแคลนอาหารที่มีเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

  • รัฐมนตรีต่างประเทศกระตุ้นให้ชาติต่าง ๆ เดินไปพร้อมสหราชอาณาจักรในการเพิ่มความพยายามรับมือปัญหาโรคระบาดโควิด-19 และภัยเสี่ยงจากภาวะขาดแคลนอาหารในประเทศกำลังพัฒนา
  • สหราชอาณาจักรประกาศมอบเงินช่วยเหลือชุดใหม่ 119 ล้านปอนด์เพื่อต่อสู้ปัญหาโรคระบาดโควิด-19 และภาวะขาดแคลนอาหาร ขณะที่สหราชอาณาจักรเข้ารับตำแหน่งประธานกลุ่มประเทศจี 7 และประธานการประชุมระดับโลกด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ COP26
  • รัฐมนตรีต่างประเทศ โดมินิค ราบ แต่งตั้งนายนิค ไดเออร์ อดีตรักษาการณ์ปลัดกระทรวงการพัฒนาระหว่างประเทศ ขึ้นเป็นผู้แทนพิเศษของสหราชอาณาจักรเพื่อการป้องกันทุพภิกขภัยและกิจการเพื่อมนุษยธรรมคนแรก

วิกฤตที่เกิดขึ้นในปีนี้ ไม่ว่าจะเป็นโรคระบาดจากไวรัสโควิด-19 ความขัดแย้งต่าง ๆ ปัญหาฝูงตั๊กแตนทะเลทรายทำลายพืชผล และปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทำให้ผู้คนราว 250 ล้านคนทั่วโลกต้องประสบภาวะอดอยากอย่างรุนแรง โดยประเทศอย่างเยเมน ซูดานใต้ ไนจีเรีย และบูกินาฟาโซ มีความเสี่ยงเกิดวิกฤตทุพภิกขภัยร้ายแรง ซึ่งหากนานาชาติไม่ยื่นมือเข้าช่วยเหลือก็จะมีผู้คนที่ต้องล้มตายจากการเจ็บไข้ได้ป่วยและความหิวโหยเพิ่มขึ้นอีกมาก ขณะที่โรคระบาดจะยังคงแพร่กระจายต่อไปทั้งในประเทศกำลังพัฒนา และไปสู่ประเทศอื่น ๆ ในโลก

ขณะที่กระทรวงการต่างประเทศและการพัฒนาของสหราชอาณาจักร (Foreign, Commonwealth & Development Office - FCDO) ได้ก่อตั้งขึ้นใหม่ในวันนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศฯ ให้คำมั่นที่จะใช้อำนาจทางการทูตและความเชี่ยวชาญด้านการช่วยเหลือระหว่างประเทศเพื่อช่วยให้นานาชาติมีความเห็นตรงกันเข้มแข็งยิ่งขึ้นในการต่อสู้กับผลกระทบรุนแรงของโรคระบาดโควิด-19 ความขัดแย้ง และปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ทั้งนี้ สหราชอาณาจักรประกาศจะมอบเงินช่วยเหลือก้อนใหม่มูลค่า 119 ล้านปอนด์ (ราว 5 พันล้านบาท) เพื่อรับมือความเสี่ยงจากทั้งปัญหาโรคระบาดโควิด-19 และภาวะอดอยาก โดยคาดว่าจะสามารถช่วยบรรเทาปัญหาขาดแคลนอาหารอย่างรุนแรงที่ส่งผลกระทบถึงผู้คนกว่า 6 ล้านคนในเยเมน สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก โซมาเลีย สาธารณรัฐแอฟริกากลาง ภูมิภาคซาเฮล (Sahel) ซูดานใต้ และซูดาน

พร้อมกันนี้ รัฐมนตรีโดมินิค ราบ ยังได้แต่งตั้งนายนิค ไดเออร์ ขึ้นเป็นผู้แทนพิเศษเพื่อการป้องกันทุพภิกขภัยและกิจการเพื่อมนุษยธรรม (Special Envoy for Famine Prevention and Humanitarian Affairs) คนแรกของสหราชอาณาจักร เพื่อทำงานร่วมกับประเทศผู้บริจาคอื่น ๆ รวมถึงหน่วยงานขององค์การสหประชาชาติ เอ็นจีโอ และมูลนิธิต่าง ๆ เพื่อช่วยป้องกันมหันภัยจากการขาดแคลนอาหาร

นายโดมินิค ราบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและการพัฒนาของสหราชอาณาจักร กล่าวว่า:

โควิด-19 และภาวะขาดแคลนอาหารเป็นภัยคุกคามผู้คนหลายล้านในประเทศยากจน ส่งผลต่อเนื่องให้เกิดปัญหาอื่น ๆ ที่กระทบสหราชอาณาจักรโดยตรง เช่น ปัญหาการก่อการร้าย และปัญหาผู้อพยพ

สหราชอาณาจักร ในฐานะผู้นำด้านบวกของโลก หวังจะเป็นตัวอย่างที่ดีในการนำประชาคมนานาชาติให้รวมพลังกันจัดการกับภัยที่คุกคามถึงชีวิตเหล่านี้ ไม่เพียงแค่เพราะนี่เป็นสิ่งที่ถูกต้อง แต่การทำเช่นนี้ยังจะช่วยปกป้องสหราชอาณาจักรเองอีกด้วย

การจัดการปัญหาระดับโลกเหล่านี้จะสำเร็จได้ก็ต่อเมื่อเราผสมผสานความแข็งแกร่งด้านการทูตเข้ากับความเชี่ยวชาญระดับโลกของเราในด้านความช่วยเหลือระหว่างประเทศ.

ในปีหน้า สหราชอาณาจักรจะดำรงตำแหน่งประธานกลุ่มประเทศจี 7 และประธานการประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้ายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศครั้งที่ 26 (COP26) ในการนี้ รัฐมนตรีต่างประเทศของสหราชอาณาจักรจะผลักดันให้ประเทศอื่น ๆ เพิ่มความพยายามในการช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนาซึ่งกำลังประสบปัญหาร้ายแรงในหลายด้านอย่างต่อเนื่อง

ด้านการวิจัยทางการแพทย์ สหราชอาณาจักรจัดอยู่ในแถวหน้าของความพยายามระดับนานาชาติเพื่อค้นหาวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 นอกจากนี้ยังได้ประกาศจะช่วยให้ทุกคนมีสิทธิ์โดยเท่าเทียมในการเข้าถึงวัคซีน ยารักษา และชุดตรวจ หากการทดลองประสบความสำเร็จ สหราชอาณาจักรเป็นประเทศผู้บริจาครายใหญ่ที่สุดให้กับองค์กรพันธมิตรเพื่อวัคซีน หรือ Gavi, the Vaccine Alliance ซึ่งทำหน้าที่ช่วยให้ประเทศยากจนสามารถเข้าถึงวัคซีนโควิด-19 ใด ๆ ได้

นอกจากนี้ สหราชอาณาจักรในฐานะประเทศสมาชิกถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติจะเดินหน้าเรียกร้องให้ทุกคนสามารถเข้าถึงความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมที่จำเป็นต่อชีวิตได้ และจะดำเนินการให้ประเทศต่าง ๆ ต้องปฏิบัติตามกฎหมายระหว่างประเทศโดยอนุญาตให้เจ้าหน้าที่ซึ่งมีภารกิจช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมสามารถทำงานได้อย่างเป็นกลางในพื้นที่ขัดแย้ง

สหราชอาณาจักรประกาศว่าจะให้งบประมาณสนับสนุนความช่วยเหลือในต่างประเทศเป็นมูลค่าเท่ากับร้อยละ 0.7 ของรายได้ของประเทศ และการก่อตั้งกระทรวงการต่างประเทศและการพัฒนาในวันนี้จะช่วยให้เราผสานอิทธิพลทางการทูตเข้ากับความเชี่ยวชาญด้านการให้ความช่วยเหลือในต่างประเทศ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดบนเวทีโลก

ทั้งนี้ การประเมินนโยบายต่างประเทศแบบบูรณาการ (Integrated Review) ที่รัฐบาลสหราชอาณาจักรกำลังจัดทำอยู่จะช่วยรัฐบาลในการกำหนดเป้าหมายสำคัญทางยุทธศาสตร์ของกระทรวงใหม่ เพื่อให้มั่นใจว่างานด้านการทูตและการให้ความช่วยเหลือของสหราชอาณาจักรจะเป็นไปเพื่อประโยชน์ของโลก ขณะที่ก่อให้เกิดประโยชน์ในระดับชาติเช่นกัน

เผยแพร่เมื่อ 2 September 2020