เนื้อหาข่าว

สหราชอาณาจักรประกาศบริจาควัคซีนโควิด-19 จำนวน 100 ล้านโดส

สหราชอาณาจักรจะบริจาควัคซีนส่วนเกิน 100 ร้อยล้านโดสให้แก่ประเทศอื่น ๆ ทั่วโลกภายในปีหน้า

  • สหราชอาณาจักรจะบริจาควัคซีนส่วนเกิน 100 ร้อยล้านโดสให้แก่ประเทศอื่น ๆ ทั่วโลกภายในปีหน้า โดยจะเริ่มบริจาคระยะแรก 5 ล้านโดสภายในเดือนกันยายนนี้
  • วัคซีนที่สหราชอาณาจักรบริจาคจะเข้าสู่โครงการ COVAX และส่วนที่เหลือแบ่งปันแก่ประเทศที่มีความจำเป็นเร่งด่วน
  • นายกรัฐมนตรีบอริสได้ขอความร่วมมือจากบรรดาผู้นำประเทศจี 7 ให้ช่วยเหลือประชากรทั่วโลกให้ได้รับวัคซีนก่อนสิ้นปีพ.ศ. 2565

นายกรัฐมนตรีแห่งสหราชอาณาจักร นายบอริส จอห์นสัน ประกาศในวันศุกร์ที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2564 ว่าสหราชอาณาจักรจะบริจาควัคซีนส่วนเกิน 100 ร้อยล้านโดสให้แก่ประเทศอื่น ๆ ทั่วโลกภายในปีหน้า โดยจะเริ่มบริจาคระยะแรก 5 ล้านโดสภายในเดือนกันยายนนี้

การประกาศดังกล่าวเกิดขึ้นก่อนการประชุมสุดยอดประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำทั้งเจ็ดหรือจี 7 ซึ่งเริ่มขึ้นในแคว้นคอร์นวอลล์ของสหราชอาณาจักรในวันนี้ ทั้งนี้ เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว นายกรัฐมนตรีบอริสได้ขอความร่วมมือจากบรรดาผู้นำประเทศจี 7 ให้ช่วยเหลือประชากรทั่วโลกให้ได้รับวัคซีนก่อนสิ้นปีพ.ศ. 2565

ในการประชุมครั้งนี้คาดว่าผู้นำแต่ละประเทศจะประกาศว่าจะรวมกันจัดหาวัคซีนโควิด-19 อย่างน้อย 1,000 ล้านโดสให้ทั่วโลก ผ่านการบริจาควัคซีน การให้ความช่วยเหลือทางการเงิน และจัดทำแผนเพิ่มกำลังการผลิตวัคซีนเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย

ในส่วนของสหราชอาณาจักรจะบริจาควัคซีน 5 ล้านโดสภายในสิ้นเดือนกันยายน โดยเน้นการบริจาคให้กลุ่มประเทศยากจนก่อน นอกจากนี้นายกรัฐมนตรีจะบริจาคเพิ่มเติมอีก 95 ล้านโดสภายในปีหน้า โดยแบ่งเป็น 25 ล้านโดสภายสิ้นปีนี้ ทั้งนี้ ร้อยละ 80 ของวัคซีนที่สหราชอาณาจักรบริจาคจะเข้าสู่โครงการ COVAX และส่วนที่เหลือแบ่งปันแก่ประเทศที่มีความจำเป็นเร่งด่วน

การบริจาควัคซีนระยะแรก 5 ล้านโดสนั้นจะตอบสนองความต้องการเร่งด่วนของกลุ่มประเทศที่ได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุดจากโรคโควิด-19 โดยไม่ทำให้โครงการฉีดวัคซีนในสหราชอาณาจักรเองต้องล่าช้าลง การเร่งฉีดวัคซีนให้แก่ทุกคนทั่วโลกไม่เพียงแต่จะช่วยหยุดยั้งการระบาดได้เร็วขึ้น แต่ยังช่วยลดความเสี่ยงที่อาจเกิดกับประชากรของสหราชอาณาจักรเอง เช่น ช่วยลดความเสี่ยงจากเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ซึ่งอาจดื้อวัคซีน ดังที่เกิดขึ้นในพื้นที่ที่มีการระบาดเป็นวงกว้าง

สหราชอาณาจักรมีส่วนร่วมในการก่อตั้งโครงการ COVAX ขึ้นในปีที่ผ่านมาและเป็นผู้บริจาครายใหญ่ลำดับที่ 4 ที่มอบความช่วยเหลือไปกว่า 548 ล้านปอนด์ (ประมาณ 24,100 ล้านบาท) จนถึงปัจจุบันโครงการ COVAX ได้มอบวัคซีนกว่า 81 ล้านโดสให้แก่ 129 ประเทศที่ยากจน และร้อยละ 94 ของวัคซีนที่บริจาคไปนั้นเป็นวัคซีนของออกซฟอร์ด-แอสตร้าเซนเนก้า ซึ่งพัฒนาขึ้นด้วยงบประมาณจากรัฐบาลสหราชอาณาจักร นอกจากนี้ สหราชอาณาจักรยังสนับสนุนให้มีการแจกจ่ายวัคซีนของออกซ์ฟอร์ด-แอสตร้าเซนเนก้าไปทั่วโลก ทำให้ประชากรโลกกว่า 5 ร้อยล้านคนได้รับวัคซีนนี้แล้วอย่างน้อยหนึ่งโดส

นายกรัฐมนตรี บอริส จอห์นสัน แห่งสหราชอาณาจักร กล่าวว่า :

ตั้งแต่การระบาดเริ่มต้นขึ้น สหราชอาณาจักรก็เป็นผู้บุกเบิกความพยายามที่จะปกป้องมนุษยชาติจากโรคร้ายนี้ กว่าหนึ่งปีที่แล้วเราได้มอบทุนสนับสนุนเพื่อพัฒนาวัคซีนออกซฟอร์ด-แอสตร้าเซนเนก้า ขึ้นมาเพื่อแจกจ่ายให้ทั่วโลกในราคาทุน

การแจกจ่ายวัคซีนในรูปแบบซึ่งไม่เคยมีมาก่อนนี้ถือว่าประชาชนต้องมาก่อนผลประโยชน์ และทำให้มีการฉีดวัคซีนไปแล้วกว่า 500 ล้านโดสในกว่า 160 ประเทศ

โครงการฉีดวัคซีนในสหราชอาณาจักรเองประสบความสำเร็จอย่างดี ซึ่งทำให้ตอนนี้เราอยู่ในฐานะที่จะสามารถแบ่งปันวัคซีนส่วนเกินให้แก่ผู้ที่ต้องการได้ และการแบ่งปันวัคซีนเช่นนี้ก็ถือเป็นก้าวสำคัญในการเอาชนะโรคระบาดให้ได้อย่างถาวร

ในการประชุมสุดยอดจี 7 นี้ ผมหวังว่าเหล่าผู้นำประเทศจะออกมาประกาศเช่นเดียวกัน เพื่อที่ในที่สุดแล้วเราจะสามารถให้ประชากรทั้งโลกได้รับวัคซีนภายในสิ้นปีหน้าและฟื้นฟูโลกให้กลับมาดีกว่าเดิมได้

ณ การประชุมจี 7 ครั้งนี้บรรดาผู้นำแต่ละประเทศจะหารือถึงวิธีการเพิ่มอุปทานวัคซีนทั่วโลก และนายบอริสจะขอให้ประเทศในกลุ่มจี 7 สนับสนุนบริษัทยาอื่น ๆ ให้จัดจำหน่ายวัคซีนในราคาทุนระหว่างที่การระบาดยังไม่สิ้นสุด เช่นเดียวกับที่แอสตร้าเซนเนก้าทำอยู่ ทั้งนี้ บริษัทไฟเซอร์ โมเดอร์นา และจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน ได้เคยให้คำมั่นไว้ก่อนหน้านี้ว่าจะแบ่งวัคซีนจำนวน 1,300 ล้านโดสโดยไม่หวังผลกำไรให้แก่ประเทศกำลังพัฒนาเช่นกัน

คาดว่าเหล่าผู้นำประเทศจะพูดคุยกันเกี่ยวกับทางเลือกอื่น ๆ ในการช่วยเหลือประเทศที่กำลังประสบภัยอย่างรุนแรงจากโรคระบาดโควิด-19 และการวางรากฐานกลไกที่จะป้องกันโรคระบาดอื่น ๆ ในอนาคตด้วย ซึ่งเป็นการหารือต่อยอดจากที่เคยตกลงกันในการประชุมจี 7 ทางออนไลน์ในช่วงก่อนหน้านี้

งบประมาณในการบริจาควัคซีนส่วนเกินนี้จัดอยู่ภายใต้งบความร่วมมือเพื่อการพัฒนาหรือ ODA (Official Development Assistance) โดยเพิ่มเติมจากเดิมที่ตั้งไว้แล้ว 1 หมื่นล้านปอนด์

จำนวนวัคซีนที่สหราชอาณาจักรประกาศว่าจะบริจาคนั้นมาจากจำนวนที่คาดว่าจะผลิตได้เกินความต้องการในประเทศ โดยคำนวณจากจำนวนวัคซีนที่จำเป็นสำหรับประชากรในสหราชอาณาจักรทั้งหมด และพิจารณาปัจจัยในกรณีที่เกิดการค้นพบเชื้อสายพันธุ์ใหม่ที่ดื้อวัคซีน รวมทั้งเหตุการณ์อื่นซึ่งอาจกระทบสายพานการผลิตแล้ว

นอกจากนี้ ปลายปีนี้สหราชอาณาจักรจะเป็นเจ้าภาพการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือที่เรียกว่า COP26 ในวันนี้สหราชอาณาจักรจึงประกาศว่าเพื่อให้ตัวแทนประเทศต่าง ๆ สามารถเข้าร่วมประชุมได้อย่างปลอดภัย สหราชอาณาจักรจะจัดหาวัคซีนให้แก่ตัวแทนผู้เข้าร่วมการประชุมซึ่งไม่อาจหาวัคซีนได้เองโดยทางอื่น ทั้งนี้ สหราชอาณาจักรกำลังหารือกับสหประชาชาติและพันธมิตรว่าจะร่วมมือกันอย่างไรได้บ้างเพื่อดำเนินการดังกล่าว

ข้อเสนอนี้หมายความว่ากลุ่มประเทศซึ่งได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะมีโอกาสร่วมในการประชุม COP26 ครั้งนี้ได้มากขึ้น เพื่อหารือถึงการสร้างโลกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้นในอนาคต

เผยแพร่เมื่อ 11 June 2021
อัปเดตล่าสุดเมื่อ 15 June 2021 + show all updates
  1. Added translation

  2. First published.