ข่าวสารรอบโลก

อังกฤษจับมือ TCELS สนับสนุนงานวิจัยรับมือโควิด-19 ในไทย

ทีเซลส์จับมือร่วมกับสถานทูตอังกฤษประจำประเทศไทย สนับสนุนงานวิจัยพัฒนาชุดตรวจโรคและแพลตฟอร์มเฝ้าระวังการระบาดโควิด-19

The UK and TCELS to jointly support COVID-19 research in Thailand

รัฐบาลสหราชอาณาจักร โดย สถานเอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทย จับมือร่วมกับ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาวิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเซลส์ (TCELS) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้หารือและร่วมมือแบ่งปันองค์ความรู้ เทคโนโลยี ประสบการณ์ ข้อมูลเกี่ยวกับธุรกิจ และให้การสนับสนุนงานวิจัยในสาขาที่เกี่ยวข้องกับการแพทย์และสุขภาพ โดยร่วมจัดพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) สนับสนุนทุนวิจัยผ่านหน่วยวิจัยมหิดล-ออกซฟอร์ด (Mahidol-Oxford Research Unit) ให้กับคณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล ในการดำเนินโครงการวิจัย 2 โครงการ เพื่อพัฒนาชุดตรวจโรคและแพลตฟอร์มเฝ้าระวังการระบาด ได้แก่ 1. โครงการการใช้เทคโนโลยี RT-LAMP และ Genome Evolution Analysis เพื่อการตรวจวินิจฉัยเชื้อ SARS-CoV-2 ซึ่งนำโดย ดร. ธนรรถ ชูขจร และ 2. โครงการการพัฒนาแพลตฟอร์มการเฝ้าระวังเชิงพื้นที่และเวลาพร้อมอินเทอร์เฟซโต้ตอบสำหรับการประเมินสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศไทย ซึ่งนำโดย ดร. ชวรัช โรจนประเสริฐ

ผลการดำเนินงานของโครงการคาดว่าจะได้ชุดตรวจการติดเชื้อโควิด-19 แบบ RT-LAMP แบบฉุกเฉิน ที่ผ่านการทดสอบประสิทธิภาพและพร้อมผลิตในปริมาณมาก โดยชุดตรวจดังกล่าวได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) สำหรับการคิดค้นพัฒนาชุดตรวจ ซึ่งในส่วนของการสนับสนุนทุนจากทีเซลส์และสถานเอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทยจะนำไปสู่การวิจัยทางคลีนิคเพื่อประเมินประสิทธิภาพการทำงานของชุดตรวจดังกล่าว และผลของโครงการการพัฒนาแพลตฟอร์มการเฝ้าระวังการระบาดของ COVID-19 จะทำให้แพลตฟอร์มการเฝ้าระวังการระบาดที่เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบันในประเทศไทยซึ่งสามารถประยุกต์ใช้งานการโรคระบาดอื่นได้อีกด้วย แพลตฟอร์มการเฝ้าระวังการระบาดสามารถใช้ประกอบการประเมินนโยบายการควบคุมโรคในเวลาจริงแบบเรียลไทม์ เพื่อให้ประเทศไทยมีความพร้อมเผชิญหน้า หากมีการระบาดระลอกใหม่ โดยนักวิจัยของทั้งสองโครงการอยู่ภายใต้คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล

การลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ในครั้งนี้ ถือเป็นก้าวแรกสำหรับการทำงานร่วมกันระหว่างสถานเอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทยและศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาวิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเซลส์ (TCELS) ที่จะส่งผลให้เกิดความร่วมมือด้านจีโนมิกส์ (Genomic) โดยก่อนหน้านี้ สหราชอาณาจักรและประเทศไทยได้มีความร่วมมือในงานด้านการวิจัยทางการแพทย์มาอย่างต่อเนื่อง เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างยั่งยืนและการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืน

ไบรอัน เดวิดสัน เอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทย กล่าวว่า

ปัจจุบันสหราชอาณาจักรดำเนินการสนับสนุนประเทศที่มีรายได้ปานกลางโดยผ่านโครงการกองทุนพรอสเพอริตี้ (Prosperity Fund Programmes) เพื่อส่งเสริมการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจแบบยั่งยืนและทั่วถึง โดยเฉพาะโครงการพัฒนาสุขภาพ Prosperity Fund’s Better Health Programme ที่มุ่งเสริมสร้างสุขภาพของประชาชนผ่านความร่วมมือที่ยั่งยืนกับประเทศพันธมิตร สถานเอกอัครราชทูตอังกฤษยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมมือกับทีเซลส์ (TCELS) เป็นส่วนหนึ่งในความพยายามรับมือกับโรคระบาดที่ส่งผลกระทบไปทั่วโลก และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าโครงการวิจัยทั้ง 2 โครงการจะช่วยเตรียมความพร้อมของประเทศไทยในการรับมือกับโรคระบาดนี้ต่อไป

ดร.นเรศ ดำรงชัย ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาวิทยาศาสตร์ กล่าวว่า

ทีเซลส์ (TCELS) มีภารกิจในการสนับสนุน และบ่มเพาะงานวิจัยและนวัตกรรม ทำให้เกิดผลิตภัณฑ์และบริการด้านการแพทย์และสุขภาพ สร้างสภาพแวดล้อม โครงสร้างพื้นฐาน และบุคลากรในประเทศให้เหมาะสมกับการเกิดนวัตกรรมด้านการแพทย์และสุขภาพระดับมาตรฐานสากล รวมถึงผลักดันผลงานวิจัยให้นำไปใช้ได้จริง เชื่อมโยงและนำพาเครือข่ายร่วมกันพัฒนาธุรกิจและการลงทุน ให้พร้อมเข้าสู่อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร ซึ่งหนึ่งในกลไกของการผลักดัน คือ การสนับสนุนทุนโครงการวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการแพทย์และสุขภาพ ในนามของทีเซลส์ ขอขอบคุณทางกระทรวงการต่างประเทศสหราชอาณาจักร และสถานเอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทยเป็นอย่างยิ่ง ที่ร่วมสนับสนุนทุนวิจัยร่วมกับทีเซลส์ (TCELS) ในการรับมือกับความท้าทายของโลก

ความร่วมมือด้านการแพทย์และสุขภาพระหว่างประเทศไทยกับสหราชอาณาจักร จะยังคงมีต่อเนื่อง โดยในระยะต่อไป จะเป็นความร่วมมือด้านการพัฒนาขีดความสามารถของผู้ให้คำปรึกษาด้านพันธุศาสตร์ (Genetic Counselor) สำหรับการแพทย์แบบจีโนมิกส์ (Medical Genomics) และการแพทย์แม่นยำ (Precision Medicines) ซึ่งจะได้แจ้งความคืบหน้าให้ทราบในโอกาสต่อไป

เผยแพร่เมื่อ 10 August 2020