ข่าวสารรอบโลก

กองทุนความร่วมมือนิวตันร่วมส่งเสริมความร่วมมือด้านวิจัยดาราศาสตร์ระหว่างอังกฤษและไทย

กองทุนความร่วมมือนิวตัน ระหว่างสหราชอาณาจักรและประเทศไทย เพื่อการวิจัยและนวัตกรรม” ทุ่มงบกว่า 1.3 ล้านปอนด์ หรือ 60 ล้านบาท ส่งเสริมความร่วมมือด้านวิจัยดาราศาสตร์

The Newton Fund promotes UK-Thai astronomical collaboration research

ตั้งเป้าหมายเกิดโครงการความร่วมมือระหว่างนักวิจัยสหราชอาณาจักรและไทยอย่างน้อย 4 โครงการ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดาราศาสตร์ทั้งซอฟท์แวร์และฮาร์ดแวร์ รวมถึงการจัดการข้อมูลทางดาราศาสตร์

กองทุนความร่วมมือนิวตัน ระหว่างสหราชอาณาจักรและประเทศไทย เพื่อการวิจัยและนวัตกรรม ร่วมกับ Science and Technology Facilities Council (STFC) และ สำนักวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จัดงานประชุมทางเชิงปฏิบัติการ ระหว่างวันที่ 12-14 กันยายน 2559 เพื่อร่วมกำหนดขอบเขตในการดำเนินการวิจัยด้านดาราศาสตร์ร่วมกัน ในหัวข้อ Capacity Building in Software and Hardware Infrastructures and Data Handling through Astronomy

ภายในงานได้มีพิธีลงนามในบันทึกความเข้าใจระหว่าง Science and Technology Facilities Council (STFC) และ สำนักวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งได้รับเกียรติจาก Ms. Margaret Tongue อัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทย เข้าร่วมเป็นสักขีพยาน

งานสัมมนาเชิงปฏิบัติการฯ ครั้งนี้ ผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย นักวิจัยด้านดาราศาสตร์จากสหราชอาณาจักรจำนวน 14 คน และจากประเทศไทย จำนวน 18 คนเข้าร่วม มุ่งหวังให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านการวิจัยดาราศาสตร์ของสหราชอาณาจักรและไทย รวมถึงความร่วมมือระหว่างนักวิจัยของสหราชอาณาจักรและของไทยในด้าน Capacity Building in Software and Hardware Infrastructures and Data Handling through Astronomy และการส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษาระบบ STEM ในโรงเรียนของไทย

Ms. Margaret Tongue อัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทย กล่าวว่า:

ภายหลังงานประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการนี้ คาดว่าจะมีโครงการที่ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัย ดำเนินการผ่านกระบวนการต่างๆ อาทิ การฝึกอบรม โครงการแลกเปลี่ยน ที่จะเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ นิสิต นักศึกษาระดับปริญญาเอก นักวิจัยระดับต้น นักเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ วิศวกร และบุคลากรระดับเทคนิค เพื่อเพิ่มศักยภาพบุคคล รวมถึงต่อยอดการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม อันจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจ การศึกษา และโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ต่างๆ ของประเทศต่อไป

รองศาสตราจารย์บุญรักษา สุนทรธรรม ผู้อำนวยการสำนักวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ กล่าวว่า:

การลงนามความร่วมมื อในบันทึกความเข้าใจระหว่าง สดร. และ STFC ในครั้งนี้นับเป็นก้าวสำคัญที่ไม่เคยมีมาก่อน เป็นการเริ่มต้นการทำงานร่วมกันของหน่วยงานทั้งสอง เพื่อขยายขอบเขตความร่วมมือโดยอาศัยศักยภาพในแต่ละด้านที่ทั้งสองฝ่ายมีความเชี่ยวชาญ ภายใต้กรอบความร่วมมือกับกองทุนนิวตัน สดร. และ STFC จะร่วมกันผนึกกำลังในการสร้างสรรโครงการวิทยาศาสตร์ที่น่าสนใจในสาขาต่างๆ ไม่เพียงแต่ด้านดาราศาสตร์เท่านั้น แต่หมายรวมไปถึงด้านอุตสาหกรรม โดยการนำนวัตกรรม และเทคโนโลยีมาปรับใช้ ทั้งที่เพื่อให้เกิดการตระหนักด้านวิทยาศาสตร์ ในทั้งสองประเทศ

ศาสตราจารย์ Grahame Blair ผู้อำนวยการสำนักงานกำกับดูแลยุทธศาสตร์และแผนงานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี the Science and Technology Facilities Council กล่าวว่า:

สหราชอาณาจักรเป็นหนึ่งในประเทศผู้นำทางด้านวิจัยดาราศาสตร์ของโลก และโดยเฉพาะอย่างยิ่งภายใต้การสนับสนุนของ STFC ส่งผลให้สหราชอาณาจักรมีบทบาทสำคัญในความก้าวหน้าของการศึกษาด้านจักรวาล (Cosmos) ความร่วมมือด้านดาราศาสตร์กับประเทศไทยในครั้งนี้ นับได้ว่าเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญที่แสดงถึง ความมุ่งมั่นของสหราชอาณาจักรที่ต้องการทำงานร่วมกับนานาประเทศ เพื่อเผยแพร่แนวทางปฏิบัติที่ดีด้านวิจัยดาราศาสตร์ พร้อมกันนี้ยังเป็นการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างนักวิจัยด้านดาราศาสตร์ของสหราชอาณาจักรและนักวิจัยด้านดาราศาสตร์ของนานาประเทศ เพื่อก่อให้เกิดผลประโยชน์ต่อทุกๆ ฝ่าย

ข้อมูลเพิ่มเติม

กองทุนความร่วมมือนิวตัน

กองทุนความร่วมมือนิวตันก่อตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์สำคัญด้านการสร้างเสริมความร่วมมือกันกับนานาประเทศในด้านวิทยาศาสตร์และนวัตกรรม ในปัจจุบันกองทุนความร่วมมือนิวตัน ได้รับการสนับสนุนด้านงบประมาณ เป็นจำนวน 735 ล้านปอนด์ (สามหมื่นสามพันล้านบาทโดยประมาณ) จากรัฐบาลสหราชอาณาจักร สำหรับความร่วมมือกับ 16 ประเทศ ในระยะเวลา 5 ปี นับจากปี 2559 เพื่อพัฒนาศักยภาพด้านงานวิจัยและการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อที่จะส่งเสริมการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจและสังคมในประเทศดังกล่าวอย่างยั่งยืนต่อไป

กองทุนความร่วมมือนิวตันอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงยุทธศาสตร์การค้า พลังงานและอุตสาหกรรมประเทศอังกฤษ และดำเนินงานผ่าน 15 หน่วยงานวิจัยหลักของประเทศอังกฤษ อาทิ Research Councils, UK Academies, British Council, Innovate UK และ Met Office

ปัจจุบันประเทศไทย มีโครงการความร่วมมือภายใต้การสนับสนุนของ ‘กองทุนความร่วมมือนิวตัน ระหว่างสหราชอาณาจักรและประเทศไทย เพื่อการวิจัยและนวัตกรรม’ เป็นจำนวนทั้งสิ้น 12 โครงการ โดยผ่านการสนับสนุนด้านงบประมาณผ่าน 17 หน่วยงาน ประกอบไปด้วย หน่วยงานของสหราชอาณาจักร 9 หน่วยงาน และหน่วยงานของไทยอีก 8 หน่วยงาน ตลอดการดำเนินงานของ ‘กองทุนความร่วมมือนิวตัน ระหว่างสหราชอาณาจักรและประเทศไทย เพื่อการวิจัยและนวัตกรรม’ ในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2558 จนถึงปัจจุบัน กองทุนฯ ได้สนับสนุนโครงการความร่วมมือด้านงานวิจัยขนาดใหญ่ในด้านต่างๆ อาทิ ด้านสาธารณสุข เกษตรกรรม พลังงาน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เป็นจำนวนมากกว่า 20 โครงการ อีกทั้งยังสนับสนุนนักวิจัยในสาขาวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ สังคมศาสตร์เป็นจำนวนมากกว่า 1,050 คน

เกี่ยวกับงานวิจัยด้านดาราศาสตร์ภายใต้การสนับสนุนของกองทุนความร่วมมือนิวตัน

การเพิ่มศักยภาพในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดาราศาสตร์ทั้ง Software และ hardware รวมถึงการจัดการข้อมูลทางดาราศาสตร์-

กองทุนความร่วมมือนิวตันให้ความสำคัญกับด้านดาราศาสตร์ เพราะดาราศาสตร์เป็นศาสตร์ที่มีความก้าวหน้าและล้ำสมัยในด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม ซึ่งสามารถนำมาประยุกต์ใช้เพื่อเป็นหนึ่งในเครื่องมือเพื่อการพัฒนาด้านเศรษฐกิจต่อไป นอกจากนี้ดาราศาสตร์ยังเป็นศาสตร์ที่สามารถสร้างแรงบันดาลใจให้กับเยาวชน ให้หันมาสนใจการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์เพิ่มขึ้น สร้างสรรค์บุคลากรที่มีทักษะทางด้านนี้เพิ่มขึ้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาและการเติบโตของระบบเศรษฐกิจด้วยเทคโนโลยีขั้นสูงต่อไป

The Science and Technology Facilities Council (STFC) ดำเนินงานเพื่อผลักดันให้สหราชอาณาจักรยังคงเป็นแนวหน้าในด้านวิทยาศาสตร์ระดับนานาชาติและรับมือกับความท้าทายสำคัญของมวลมนุษยชาติ ได้แก่ ความต้องการพลังงานในอนาคต การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และความมั่นคงของโลก STFC มีผู้เชี่ยวชาญที่สามารถถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ในด้าน material science, space and ground-based astronomy technologies, laser science, microelectronics, wafer scale manufacturing, particle and nuclear physics, alternative energy production, radio communications และ radar ให้กับสถาบันการศึกษาและภาคอุตสาหกรรมที่สนใจ

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) เร่งพัฒนาศักยภาพกำลังคนและโครงสร้างพื้นฐานด้านดาราศาสตร์อย่างเต็มประสิทธิภาพ โดยเฉพาะในส่วนของกล้องโทรทรรศน์ควบคุมอัตโนมัติระยะไกล และเครือข่ายกล้องโทรทรรศน์วิทยุระยะไกลของประเทศ โดยเทคโนโลยีเหล่านี้มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องพัฒนาศักยภาพ และทักษะด้านการควบคุกล้องโทรทรรศน์สมัยใหม่ที่ต้องอาศัยความแม่นยำสูง ซึงการพัฒนาทักษะกำลังคน และเทคโนโลยีดังกล่าวยังสามารถต่อยอดไปสู่อุตสาหกรรมอื่นๆ ด้วยอาทิระบบควบคุมของรถยนต์ และเครื่องจักรที่มีต้องการความแม่นยำสูงอีกด้วย

เผยแพร่เมื่อ 14 September 2016