ข่าวสารรอบโลก

สหราชอาณาจักรเปิดตัวกองทุนความร่วมมือนิวตันกับประเทศไทย

“กองทุนความร่วมมือนิวตัน ระหว่างสหราชอาณาจักรและประเทศไทย เพื่อการวิจัยและนวัตกรรม” มีมูลค่ากว่า 1 พันล้านบาทในระยะเวลา 5 ปี

เผยแพร่ภายใต้ 2010 to 2015 Conservative and Liberal Democrat coalition government
The UK launches Newton Fund with Thailand

สหราชอาณาจักรและไทยกระชับความสัมพันธ์ด้านการวิจัยพัฒนาวิทยาศาสตร์อย่างยั่งยืน แข็งแกร่ง และเป็นระบบ เพื่อสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจและสวัสดิการสังคมของประเทศไทย ผ่าน “กองทุนความร่วมมือนิวตัน ระหว่างสหราชอาณาจักรและประเทศไทย เพื่อการวิจัยและนวัตกรรม” มีมูลค่ากว่า 1 พันล้านบาทในระยะเวลา 5 ปี

สหราชอาณาจักรเผย ทุ่มงบเพื่อ “กองทุนความร่วมมือนิวตัน ระหว่างสหราชอาณาจักรและประเทศไทย เพื่อการวิจัยและนวัตกรรม” ทั้งสิ้น 10 ล้านปอนด์ (500 ล้านบาท โดยประมาณ) ภายในระยะเวลา 5 ปี เพื่อความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และนวัตกรรม กับประเทศไทย โดยงานเปิดตัวในประเทศไทยได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์ ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ รองนายกรัฐมนตรี มร.มาร์ค เคนท์ เอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทย ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และ ศาสตราจารย์ โรบิน ไกรม์ส ที่ปรึกษารัฐมนตรีอาวุโสด้านวิทยาศาสตร์ กระทรวงการต่างประเทศอังกฤษ

นอกจากนี้ ภายในงาน ศาสตราจารย์ โรบิน ไกรม์ส ผู้ซึ่งเป็นราชบัณฑิตแห่งราชบัณทิตสถานด้านวิศวกรรมแห่งสหราชอาณาจักร ยังได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจสองฉบับ ระหว่าง ราชบัณทิตสถานด้านวิศวกรรมแห่งสหราชอาณาจักร และ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ในโครงการให้ทุนสำหรับผู้นำสาขานวัตกรรม

มร. มาร์ค เคนท์ เอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทย กล่าวว่า:

ด้วยกองทุนความร่วมมือนิวตันนี้ สหราชอาณาจักรจะสามารถใช้ความเชี่ยวชาญในด้านงานวิจัยและนวัตกรรม มาส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจและสวัสดิการสังคมในประเทศไทยได้ โดยกองทุนนี้มีมูลค่ามากถึง 2 ล้านปอนด์ (100 ล้านบาท โดยประมาณ) เพื่อความร่วมมือกับประเทศไทย และมีความตั้งใจที่จะเห็นการสนับสนุนงบประมาณจำนวนเท่ากันจากประเทศไทย ทั้งนี้องค์กรภาคีจากทั้งสองประเทศจะประสานความร่วมมือในการดำเนินกิจกรรมและโครงการต่างๆ ด้วยกัน

ศาสตราจารย์ ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า:

รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมการใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การวิจัยและพัฒนา และนวัตกรรม และจะเพิ่มงบประมาณสนับสนุนการวิจัยและพัฒนา โดยเฉพาะในเรื่องที่ประเทศมีความจำเป็น และมีทุนสนับสนุนโครงการร่วมกัน ซึ่งกองทุนความร่วมมือนิวตัน ระหว่างสหราชอาณาจักรและประเทศไทย เพื่อการวิจัยและนวัตกรรม มีความสำคัญในการนำสู่ความสำเร็จของนโยบายของไทยในด้านที่สหราชอาณาจักรมีความเชี่ยวชาญ

ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า:

กองทุนความร่วมมือนิวตัน ระหว่างสหราชอาณาจักรและประเทศไทย เพื่อการวิจัยและนวัตกรรม นับเป็นตัวอย่างที่ดีของความร่วมมือระดับนานาชาติ ในการสนับสนุนการประเทศไทยในการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม อย่างเข้มแข็ง ยั่งยืน และเป็นระบบ ทั้งในแง่ของแหล่งข้อมูลและโครงสร้างพื้นฐาน

ศาสตราจารย์ โรบิน ไกรม์ส ที่ปรึกษารัฐมนตรีอาวุโสด้านวิทยาศาสตร์ กระทรวงการต่างประเทศอังกฤษ กล่าวว่า:

ผมภูมิใจอย่างยิ่งที่สหราชอาณาจักรมีศักยภาพในด้านวิทยาศาสตร์และนวัตกรรม แม้จะมีประชากรเพียงแค่ 0.9% ของประชากรโลก แต่นักวิจัยชาวอังกฤษมีผลงานวิจัยและบทความวิชาการมากถึง 6% และ ได้รับการอ้างถึง ถึง 16% ด้วยกัน นักวิจัยชาวอังกฤษได้รับรางวัลโนเบลมากกว่า 80 รางวัลในสาขาวิทยาศาสตร์ นอกจากนี้ สหราชอาณาจักรยังเป็นมีมหาวิทยาลัยถึง 4 แห่งที่ติดอันดับใน 10 มหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดของโลก ในแง่ของความคุ้มค่า นักวิจัยชาวอังกฤษมีประสิทธิภาพมากที่สุดในกลุ่ม จี8 และดึงดูดแหล่งทุนที่สนับสนุนงานวิจัยมากกว่าชาติอื่นๆ อย่างไรก็ดี เราตระหนักดีว่า ความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ในระดับนานาชาติ อาทิ ประเทศไทยนั้น จะนำไปสู่โอกาสในการสร้างสรรค์แนวคิดใหม่ๆ ส่งเสริมนวัตกรรมเพื่อความก้าวหน้า และตอบประเด็นปัญหาของโลกเราได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ความมั่นคงด้านพลังงาน และโรคระบาด

รายละเอียดเพิ่มเติม

เกี่ยวกับกองทุนความร่วมมือนิวตัน

สหราชอาณาจักรได้ประกาศกองทุนความร่วมมือนิวตัน เพื่อการวิจัยและนวัตกรรมในกลุ่มประเทศอำนาจใหม่ เป็นจำนวน 375 ล้านปอนด์ (2 หมื่นล้านบาทโดยประมาณ) สำหรับความร่วมมือกับ 15 ประเทศ ในระยะเวลา 5 ปี นับจากเดือนเมษายน 2557 ซึ่งจะส่งเสริมความร่วมมือกับประเทศต่างๆ รวมถึงประเทศไทย ทางสหราชอาณาจักรจะใช้ความเชี่ยวชาญของประเทศในงานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจและสวัสดิการสังคมในประเทศต่างๆ ที่ได้ตกลงความร่วมมือกัน สหราชอาณาจักรจะกระชับความสัมพันธ์กับประเทศต่างๆ อย่างยั่งยืน แข็งแกร่งและมีระบบ ผ่านโครงการความร่วมมือทางวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมทั้งแบบทวิภาคีและพหุภาคี ความร่วมมือนี้จะสนับสนุนสหราชอาณาจักรในฐานะประเทศที่เป็นศูนย์รวมของงานวิจัยชั้นเลิศและระบบนิเวศนวัตกรรม ตลอดจนเปิดโอกาสไปสู่ความร่วมมือและการค้าในวงกว้าง

กองทุนความร่วมมือนิวตันนี้ประกอบไปด้วยโครงการย่อยสามประเภท

  • การพัฒนาบุคลากร - สร้างเสริมศักยภาพ การแลกเปลี่ยนบุคลากรและการร่วมมือระหว่างองค์กรต่างๆ
  • การพัฒนาโครงการต่างๆ - ความร่วมมือด้านงานวิจัยในหัวข้อด้านการพัฒนาต่างๆ และ
  • การนำนวัตกรรมมาปรับใช้ – ผ่านความร่วมมือต่างๆ

ซึ่งประเทศที่เข้าร่วมในกองทุนความร่วมมือนิวตันจะร่วมกับสหราชอาณาจักรในการตัดสินใจเลือกประเด็นต่างๆ รวมถึงการร่วมกันสนับสนุนงบประมาณด้วย ตัวอย่างความร่วมมือต่างๆ ได้แก่

  • ความร่วมมือด้านงานวิจัยในหัวข้อด้านการพัฒนา
  • โครงการแลกเปลี่ยนนักศึกษาและนักวิจัยระหว่างสองประเทศ
  • การใช้กองทุนความร่วมมือในการหาทางออกใหม่ๆ ในประเด็นปัญหาต่างๆ เพื่อการพัฒนาประเทศ
  • การเสริมสร้างขีดความสามารถด้านวิทยาศาสตร์และนวัตกรรม

เกี่ยวกับโครงการมอบทุนสำหรับผู้นำสาขานวัตกรรม

โครงการมอบทุนสำหรับผู้นำสาขานวัตกรรมนี้เป็นความร่วมมือระหว่างราชบัณฑิตยสถานด้านวิศวกรรมแห่งสหราชอาณาจักร สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) นับเป็นหนึ่งตัวอย่างความร่วมมือภายใต้“กองทุนความร่วมมือนิวตัน ระหว่างสหราชอาณาจักรและประเทศไทย เพื่อการวิจัยและนวัตกรรม” ที่มุ่งสร้างศักยภาพให้กับนักวิจัย ในการที่จะนำงานวิจัยมาปรับใช้ในเชิงพาณิชย์ โดยนักวิจัยไทยจำนวน 15 ท่านจะได้รับเลือก โดยพิจารณาจากผลงานวิจัย ความเป็นไปได้ในเชิงพาณิชย์ และความเป็นไปได้ที่จะนำแนวคิดในงานวิจัยไปพัฒนาต่อไป ซึ่งนักวิจัยทั้ง 15 ท่านจะได้รับประโยชน์จากการอบรมอย่างเข้มข้นในสหราชอาณาจักร ได้รับคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ และโอกาสในการสร้างเครือข่ายในระดับนานาชาติ ในระยะเวลาอันสั้น ผู้ที่ได้รับทุนจะได้มีโอกาสพัฒนาแผนธุรกิจสำหรับนวัตกรรมที่คิดค้นขึ้น โดยได้รับการสนับสนุนจากโครงการ และในระยะยาว จะได้รับการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องจากต้นสังกัด ในการร่วมเครือข่ายนักคิดค้นและผู้เชี่ยวชาญในเวทีนานาชาติ เพื่อที่พัฒนาแผนธุรกิจต่อไป

เผยแพร่เมื่อ 14 January 2015