ข่าวสารรอบโลก

ควันหลงพาราลิมปิก: จากการแข่งขันกีฬาสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

อังกฤษ-ไทยและความร่วมมือด้านการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ

เผยแพร่ภายใต้ 2010 to 2015 Conservative and Liberal Democrat coalition government
Officers from Thailand’s National Office for Empowerment of Persons with Disabilities (NEP) visiting the UK

หนึ่งในเหตุการณ์แห่งปีของปี 2012 คงไม่มีใครลืมการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษเป็นแน่ และทุกๆ ครั้งหลังจากจบการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก ประเทศเจ้าภาพจะจัดการแข่งขันพาราลิมปิกต่อเนื่องกันไป ซึ่งเป็นที่ประทับใจไม่แพ้กัน เบื้องหลังความสำเร็จของการจัดการแข่งขันกีฬาพาราลิมปิกนั้นคือการเตรียมงานและทำงานอย่างต่อเนื่องของรัฐบาลอังกฤษ โดยเมื่อการแข่งขันเสร็จสิ้นลง สถานเอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทยและสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติได้เพื่อสานต่องานด้านคนพิการต่อไป

ในการนี้ นางนภา เศรษฐกร เลขาธิการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ พร้อมคณะ ได้เข้าหารือกับเอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทย มร. มาร์ค เคนท์ เพื่อแลกเปลี่ยนทัศนะการทำงานด้านคนพิการ และเรียนรู้แนวทางนโยบาย ตลอดจนการทำงาน ปัญหาและอุปสรรค ก่อนเดินทางพร้อมคณะไปศึกษาดูงาน ณ สหราชอาณาจักร เพื่อประชุมร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ได้แก่ หน่วยงานที่รับผิดชอบด้านนโยบายเพื่อคนพิการของกระทรวงการต่างประเทศอังกฤษ สถานีโทรทัศน์ Channel 4 การกีฬาแห่งชาติอังกฤษ (Sport UK) Social Enterprise UK และ Disability Rights UK

มร. มาร์ค เคนท์ เอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทย กล่าวว่า

ในฐานะตัวแทนรัฐบาลอังกฤษ ผมมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ทางสถานทูตได้สานต่องานด้านคนพิการกับหน่วยงานราชการของประเทศไทย สำหรับการแข่งขันกีฬาพาราลิมปิกที่กรุงลอนดอนปีที่ผ่านมานั้นไม่ได้เป็นเพียงการแข่งขันกีฬา แต่สหราชอาณาจักรยังตั้งเป้าไปถึงการเปลี่ยนมุมมองของคนในสังคมที่มีต่อคนพิการ สนับสนุนให้เกิดโอกาสสำหรับคนพิการที่จะมีส่วนร่วมในมหกรรมกีฬาครั้งสำคัญและยังไปถึงการมีส่วนร่วมของคนพิการกับกิจกรรมอื่นๆ ต่อไป ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคอื่นๆ ในสังคม

เจ้าหน้าที่ของสถานีโทรทัศน์ Channel 4 ได้อธิบายระหว่างการเยี่ยมชมงานว่า ทางสถานีนั้นเป็นผู้ถ่ายทอดการแข่งขันกีฬาพาราลิมปิกอย่างเป็นทางการ และได้มีการวางแผนเตรียมความพร้อม โดยทางสถานีนั้นมองไปถึงการสร้างความตระหนักให้เกิดขึ้นให้สังคมอย่างยั่งยืน เปลี่ยนมุมมองของคนทั่วไปที่มีต่อคนพิการ มีการรับสมัครคนพิการเพื่อเข้ามาเป็นผู้รายงานข่าวกีฬา ซึ่งคัดเลือกจากผู้สมัครกว่า 300 คน พร้อมฝึกอบรมงานผู้ประกาศให้กับผู้ที่ได้รับคัดเลือก ซึ่งปัจจุบันมีผู้รายงานข่าวที่ยังคงทำงานกับทางสถานีต่อไป

นางนภา เศรษฐกร เลขาธิการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ กล่าวภายหลังการเดินทางกลับมาจากสหราชอาณาจักรว่า

การเดินทางไปศึกษาดูงานครั้งนี้ ได้รับแนวคิดทั้งทางด้านนโยบายและการปฏิบัติงานที่มีประโยชน์อย่างมาก การพูดคุยกับกระทรวงการต่างประเทศของอังกฤษนั้นทำให้ทราบว่า การจ้างงานคนพิการของหน่วยงานราชการอังกฤษนั้น มองถึงความยั่งยืน คือไม่ได้มองแค่การหางานเฉยๆ แต่คนพิการที่เข้าสู่สังคมปกติ ต้องการปรับตัว หน่วยงานมีหน้าที่คิดต่อยอดว่าทำอย่างไรให้คนพิการทำงานอย่างมีความสุข ซึ่งเป็นหัวใจของความสำเร็จอย่างยั่งยืน องค์กรของอังกฤษยอดเยี่ยมมาก ไม่เพียงแต่หางาน แต่มีศูนย์ให้คำปรึกษาการจ้างงาน มีการวิเคราะห์ค่างานตำแหน่งงานที่เหมาะสมกับความสามารถของเขา มีการเตรียมความพร้อม ฝึกอบรม การเป็นกระบวนการที่จะนำไปสู่ความยั่งยืนของการมีงานทำของคนพิการ เป็นจุดเริ่มต้นแนวคิดในการทำงานที่ทางเจ้าหน้าที่ของเรารับมา งานติดตามให้คำแนะนำ คนพิการ ทั้งในหน่วยงานและสถานประกอบการต่างๆ

อีกประเด็นหนึ่งคือการเข้าถึงสถานที่ทำงานได้โดยสะดวก การจัดสิ่งอำนวยความสะดวกในหน่วยงานที่รับคนพิการเข้าทำงาน และพื้นที่สาธารณะ ทางหน่วยงานของสหราชอาณาจักรนั้นได้รณรงค์จนประสบความสำเร็จเป็นรูปธรรม คนพิการสามารถเดินออกจากบ้าน ได้อย่างอิสระและมีความสุข ถ้าประเทศไทยทำอย่างนี้ได้ ก็เป็นการพัฒนาอย่างยั่งยืน ตลอดจนการวิธีการทำงาน การรณรงค์ที่มีสื่อและเทคนิคหลากหลาย ทั้งเอกสาร ภาพ โบรชัวร์ ทำให้ทางคณะได้เห็นภาพการทำงานที่ชัดเจน

อีกหนึ่งหน่วยงานที่ทางคณะได้ไปเยี่ยมชมก็คือ Social Enterprise UK ที่ทำงานเกี่ยวกับ “การดำเนินธุรกิจเพื่อสังคม” โดยได้พูดคุยกันอย่างกว้างขวางในเรื่องการผลักดันสู่ภาคธุรกิจที่จะนำผลกำไรมาผลักดันงานพัฒนาเพื่อคนพิการ นับเป็นแนวคิดการทำงานพัฒนาอย่างยั่งยืนและต่อเนื่อง หลังจากการเดินทางครั้งนี้ ทางสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติมีกำหนดการจัดการประชุมตัวแทนจากประเทศจากอาเซียนในเดือนพฤษภาคม เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้เรื่องธุรกิจเพื่อสังคมสำหรับคนพิการ และนำแนวคิดที่ได้จากการศึกษาดูงานครั้งนี้มาถกในวงกว้างต่อไป

เผยแพร่เมื่อ 11 March 2013