ข่าวสารรอบโลก

นักวิทยาศาสตร์อังกฤษปั่นรณรงค์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ – Pole to Paris

สถานเอกอัครราชทูตอังกฤษ กรุงเทพฯ ต้อนรับ ดร.แดเนียล ไพรส์ นักวิทยาศาสตร์ชาวอังกฤษ และผู้ริเริ่ม ‘Pole to Paris’ แคมเปญรณรงค์เกี่ยวกับ ‘การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ’

PoletoParis

สถานเอกอัครราชทูตอังกฤษ กรุงเทพฯ ต้อนรับ ดร.แดเนียล ไพรส์ นักวิทยาศาสตร์ชาวอังกฤษ และผู้ริเริ่ม ‘Pole to Paris’ แคมเปญรณรงค์เกี่ยวกับ ‘การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ’ (Climate Change) ซึ่งได้ขี่จักรยานจากทวีปแอนตาร์กติกมาถึงกรุงเทพฯ เป็นที่เรียบร้อย พร้อมกันนี้เจ้าหน้าที่สถานทูตฯ จากฝ่ายต่างๆ ร่วมใจมาแสดงความยินดีเพื่อส่วนหนึ่งในการรณรงค์ครั้งสำคัญของประวัติศาสตร์และส่ง ดร. แดเนียล ไพรส์ ขี่จักรยานต่อไปบนถนนวิทยุจนถึงสวนลุมพินี โดยดร.แดเนียล ไพรส์ จะออกจากประเทศไทยในสัปดาห์หน้า มุ่งสู่ประเทศบังคลาเทศซึ่งเป็นจุดหมายปลายทางต่อไป

ดร. แดเนียล ไพรส์ ออกเดินทางขี่จักรยานจากทวีปแอนตาร์กติก สู่จุดหมายปลายทางที่กรุงปารีส ด้วยระยะทางทั้งหมดกว่า 17,000 กิโลเมตร ภายใต้แคมเปญ ‘Pole to Paris’ เพื่อรณรงค์และสร้างความตระหนักถึงปัญหา ‘การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ’ และความสำคัญของการประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสมัยที่ 21 ของ องค์การสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change Conference of Parties 21 หรือเรียกสั้นๆ ว่าCOP21) ซึ่งเป็นการเจรจาข้อตกลงเกี่ยวกับการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ระหว่างประเทศสมาชิกจากทั่วโลก ซึ่งจะเกิดขึ้นในเดือนธันวามคมปี 2558 นี้ ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส

ดร.ไพรส์ กล่าว:

ในทุกๆ ยุคสมัยมนุษย์ต้องเผชิญหน้ากับความท้าทายที่แตกต่างกันไป และขณะนี้เรากำลังเผชิญกับความท้าทาย ครั้งใหญ่ที่สุดที่เคยมีมา ‘การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ’ ไม่ใช่เพียงปัญหาสิ่งแวดล้อมทั่วไป แต่เป็นปัญหาที่เกี่ยวเนื่องกันและสามารถเปลี่ยนแปลงทุกสิ่งอย่างบนโลกใบนี้ได้ การประชุมนานาชาติที่กำลังจะเกิดขึ้นในเดือนธันวาคมนี้ จะมีผู้นำจากประเทศต่างๆ มาร่วมหารือตกลงเรื่องการวางมาตรการและความช่วยเหลือเพื่อลดการปล่อยก๊าคาร์บอนไดออกไซด์ โดยเราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าพวกเขาจะมีทางออกที่พาพวกเราก้าวข้ามวิกฤติโลกครั้งนี้ไปได้

นอกจากการขี่จักรยานรณรงค์เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในแคมเปญ ‘Pole to Paris’ แล้ว ดร.ไพรส์จะเข้าร่วมการประชุมและสัมมนาเกี่ยวกับ ‘การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ’ ที่จัดขึ้นในแต่ประเทศที่เดินทางผ่าน ซึ่งเผชิญกับปัญหาด้านภูมิอากาศที่แตกต่างกันไป สำหรับประเทศไทย ดร.ไพรส์ได้เข้าร่วม Regional Forum on Climate Change จัดโดยสหภาพยุโรป (European Union) เพื่อนำเสนอ พูดคุยและอภิปรายเกี่ยวกับกลยุทธ์และมาตรการต่างๆ ในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ พร้อมวิธีแก้ปัญหาพลังงานทดแทน ร่วมกับนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ที่สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (Asian Institute of Technology – AIT)

ดร.ไพรส์ กล่าวย้ำ:

เราสามารถเอาชนะความท้าทายครั้งใหญ่นี้ไปได้ด้วยความร่วมมือร่วมใจจากทุกฝ่าย ทั้งตัวบุคคล ภาครัฐและเอกชน ทุกคนสามารถร่วมเป็นส่วนหนึ่งของความครั้งนี้ได้เพียงช่วยเป็นกระบอกเสียงและกระตุ้นให้ผู้นำของเราวางแผนงานการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนอย่างจริงจังและทำได้สำเร็จ

การเดินทางของดร.ไพรส์ในแต่ละช่วง จะถ่ายทอดออกมาในรูปแบบซีรีส์วิดีโอ ที่จะเล่าเรื่องราวตั้งแต่ สาเหตุที่ทำให้ภูมิอากาศที่ขั้วโลกเปลี่ยนแปลง ไปจนถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก ผู้ที่สนใจ สามารถชมผ่านทางเว็บไซต์และ Social Media ได้ที่ www.poletoparis.com, Twitter @poletoparis และ www.facebook.com/poletoparis

‘Pole to Paris’ จึงเป็นการรณรงค์ครั้งสำคัญที่จะช่วยกันกระตุ้นให้สาธารณชนร่วมเป็นส่วนหนึ่งของพลังเคลื่อนไหวในครั้งนี้ และยังจะเป็นก้าวสำคัญของการช่วยกันหาทางแก้ไขปัญหาด้านการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศอย่างกว้างขวางในระดับนานาชาติในการประชุม COP21 ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส อีกด้วย

ข้อมูลเพิ่มเติม

ดร. ไพรส์ นักวิทยาศาสตร์ชาวอังกฤษ อายุ 27 ปี สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกในระหว่างที่เขาอาสาดำเนินโครงการภาคสนาม 3 โครงการในทวีปแอนตาร์กติก เพื่อแสดงให้เห็นถึงความเข้าใจทางวิทยาศาสตร์ต่อทวีปขั้วโลก ที่เพิ่มขึ้น ถึงแม้ว่าแอนตาร์ติกจะดูห่างไกล ทว่ามันอยู่ใกล้มากกว่าที่เราคิด หลังจากได้ศึกษาเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและวิทยาศาสตร์กายภาพโลกเป็นเวลา 10 ปี ดร. ไพรส์และเพื่อนร่วมงาน จึงริเริ่มทำวิดีโอเพื่อสื่อให้เห็นถึงเหตุการณ์ต่างๆ ที่เป็นภัยอันตรายต่อมนุษย์ที่อาจเกิดขึ้น และร่วมรณรงค์สร้างความตระหนักถึงความสำคัญของการประชุม COP21 ที่กรุงปารีส ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าเป็นการประชุมที่สำคัญที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์โลก

เผยแพร่เมื่อ 6 July 2015