ข่าวสารรอบโลก

สหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักรยืนยันเป้าหมายด้านสภาพภูมิอากาศที่ท้าทายยิ่งขึ้น พร้อมหนุนไทยให้บรรลุเป้าหมายสภาพภูมิอากาศ

เอกอัครราชทูตอังกฤษและอุปทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทยแถลงยืนยันถึงความมุ่งมั่นด้านสภาพภูมิอากาศที่ได้ประกาศ ณ การประชุมสุดยอดผู้นำด้านสภาพภูมิอากาศที่สหรัฐฯ เป็นเจ้าภาพเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

  • ณ การประชุมสุดยอดด้านสภาพภูมิอากาศ สหรัฐฯ ประกาศเป้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงร้อยละ 50-52 ภายในปี พ.ศ.2573 เมื่อเทียบกับปี พ.ศ.2548
  • ประเทศต่าง ๆ ที่มีมูลค่าเศรษฐกิจรวมเป็นครึ่งหนึ่งของโลกต่างประกาศเป้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่สูงพอจะป้องกันไม่ให้อุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส
  • สหราชอาณาจักรประกาศเป้าที่ท้าทายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโดยจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ร้อยละ 78 ภายในปี พ.ศ.2578 เมื่อเทียบกับปี พ.ศ.2533
  • รัฐมนตรีสิ่งแวดล้อมของไทยแถลงความคืบหน้าร่างพระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศฉบับแรกของประเทศและการใช้โมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG Economy) เพื่อเป็นแนวทางลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของไทย

วันนี้ (29 เมษายน พ.ศ.2564) นายไบรอัน เดวิดสัน เอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทยและนายไมเคิล ฮีธ อุปทูตรักษาการแทนเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทยร่วมเน้นย้ำถึงความมุ่งมั่นด้านสภาพภูมิอากาศที่แต่ละประเทศได้ประกาศ ณ การประชุมสุดยอดผู้นำด้านสภาพภูมิอากาศ (Leaders Summit on Climate) ที่สหรัฐฯ เป็นเจ้าภาพ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เอกอัครราชทูตอังกฤษและอุปทูตสหรัฐฯ แสดงความยินดีกับแผนด้านสภาพภูมิอากาศที่ประเทศไทยประกาศและยกย่องบทบาทของไทยในฐานะผู้นำด้านการแก้ปัญหาสภาพภูมิอากาศในภูมิภาค พร้อมกระตุ้นให้ทุกประเทศ รวมทั้งประเทศไทย เพิ่มเป้าการมีส่วนร่วมลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศ หรือ NDC เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับโลก นอกจากนี้ทั้งสองประเทศยังได้ให้คำมั่นที่จะสนับสนุนรัฐบาลไทยในภารกิจนี้

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นภัยต่ออนาคตและส่งผลต่อความเป็นอยู่ของผู้คนรอบโลก ผลกระทบต่อโลกนั้นเป็นที่กระจ่างชัดแล้วในทุกวันนี้รวมทั้งในประเทศไทยซึ่งได้ถูกจัดอันดับเป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด 10 อันดับแรกจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นภัยน้ำท่วม ภัยแล้ง ไฟป่าและปรากฏการณ์ด้านสภาพอากาศแบบสุดโต่ง

การประชุมสุดยอดด้านสภาพภูมิอากาศที่สหรัฐฯ จัดขึ้นเมื่อวันที่ 22-23 เมษายน พ.ศ. 2564 ได้นำผู้นำโลกจากหลากหลายประเทศ รวมทั้งสหราชอาณาจักรและประเทศไทยและผู้นำองค์กรระหว่างประเทศ องค์กรไม่แสวงหาผลกำไร และภาคธุรกิจมารวมตัวกันเพื่อระดมความพยายามในการจัดการวิกฤตด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การประชุมนี้ถือเป็นก้าวที่สำคัญยิ่งในปีแห่งการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศ ในขณะที่ทั่วโลกกำลังเตรียมการเจรจาด้านสภาพภูมิอากาศที่จะเกิดขึ้น ณ การประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศครั้งที่ 26 หรือ COP26 ซึ่งจะจัดขึ้นที่เมืองกลาสโกว์ สหราชอาณาจักร ในเดือนพฤศจิกายนนี้ ในฐานะเจ้าภาพการประชุมสุดยอดผู้นำด้านสภาพภูมิอากาศ นายโจเซฟ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้ประกาศเป้าการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกครั้งประวัติศาสตร์โดยมุ่งจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ร้อยละ 50-52 ภายในปี พ.ศ.2573 เมื่อเทียบกับปี พ.ศ.2548 ซึ่งนับว่าเพิ่มขึ้นจากเป้าเดิมของสหรัฐฯ เกือบสองเท่า ในขณะที่นายบอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักรประกาศจะออกกฎหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ร้อยละ 78 ภายในปี พ.ศ.2578 เมื่อเทียบกับปี พ.ศ.2533 นับเป็นหนึ่งในเป้าด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ท้าทายที่สุดในโลกขณะนี้

ประเทศอื่นอีกหลายประเทศ เช่น ญี่ปุ่น จีนและเกาหลีใต้ได้ประกาศความมุ่งมั่นด้านสภาพภูมิอากาศที่ท้าทายยิ่งขึ้น หรือมีแผนเพิ่มเป้า NDC ก่อนถึงการประชุม COP 26 เช่นกัน เป้าหมายใหม่ที่นานาชาติประกาศนี้จะทำให้แน่ใจได้ว่าขณะนี้ประเทศต่าง ๆ ที่มีมูลค่าเศรษฐกิจรวมเป็นครึ่งหนึ่งของเศรษฐกิจโลกได้ประกาศความมุ่งมั่นที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลกเพียงพอที่จะป้องกันไม่ให้อุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส นอกจากนี้ปัจจุบันประเทศกลุ่มจี 7 ทุกประเทศต่างมีเป้า NDC ที่เพียงพอให้แต่ละประเทศมุ่งไปสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ได้ภายในปี พ.ศ.2593

แต่เรายังต้องการความพยายามมากยิ่งขึ้น คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (Intergovernmental Panel on Climate Change: IPCC) ได้เน้นย้ำว่าการจะจำกัดอุณหภูมิโลกไม่ให้พุ่งเกิน 1.5 องศาเซลเซียสได้สำเร็จจะต้องมาจากการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลกให้ได้ร้อยละ 45-50 ภายในปีพ.ศ. 2573 ดังนั้นสหรัฐฯ และสหราชอาณาจักรจึงขอให้ทุกประเทศกำหนดเป้า NDC ที่ท้าทายยิ่งขึ้นก่อนที่จะถึงการประชุม COP26 เพื่อช่วยให้เป้าจำกัดอุณหภูมิโลกเป็นไปตามแผน

ณ การประชุมสุดยอดดังกล่าว นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของไทยได้แถลงถึงความคืบหน้าของร่างพระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศฉบับแรกของไทยและการใช้โมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG Economy) นับเป็นก้าวสำคัญของไทยในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศก่อนที่จะถึงการประชุม COP26

สหราชอาณาจักรในฐานะประธานการประชุม COP26 สหรัฐอเมริกาและประเทศไทยหวังว่าจะได้เป็นส่วนหนึ่งของทุกประเทศทั่วโลกในการกำหนดเป้าหมายที่ท้าทายยิ่งขึ้นเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกก่อนถึงการประชุม COP26

นายไบรอัน เดวิดสัน เอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทยกล่าวว่า

เราทุกคนต้องลงมือทันทีเพื่อปกป้องโลกไว้ให้คนรุ่นหลัง สหราชอาณาจักรทราบว่าประเทศไทยต้องการการสนับสนุนเพิ่มเติมจากนานาชาติในประเด็นนี้ และเราก็ยินดีสนับสนุนเส้นทางของไทยอย่างเต็มที่ ที่ผ่านมาสหราชอาณาจักรได้สนับสนุนเงินทุนแก่โครงการ Thai Rice NAMA เพื่อการปลูกข้าวอย่างยั่งยืนที่รัฐมนตรีวราวุธได้กล่าวถึงในการประชุมสุดยอดด้านสภาพภูมิอากาศของสหรัฐฯ นอกจากนี้เรายังสนับสนุนประเทศไทยในการเปลี่ยนผ่านมาใช้พลังงานสะอาดและระบบการเงินสีเขียวผ่านโครงการ ASEAN Low Carbon Energy Programme และการสนับสนุนนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าในไทย

นายไมเคิล ฮีธ อุปทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทยกล่าวว่า

สหรัฐอเมริกาได้ช่วยเหลือประเทศไทยในการพัฒนาพาวเวอร์กริดและการบูรณาการพลังงานทางเลือกและยานยนต์ไฟฟ้าให้ดียิ่งขึ้นมาตลอด เรายังช่วยประเทศไทยในการพัฒนาเครื่องมือในการจัดการปัญหามลพิษทางอากาศ ภัยแล้งและการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ สหรัฐอเมริกาพร้อมที่จะช่วยให้ไทยบรรลุเป้าหมายทางสภาพภูมิอากาศ

เผยแพร่เมื่อ 29 April 2021