ข่าวประชาสัมพันธ์

สหราชอาณาจักรระดมเงิน 1 พันล้านดอลลาร์จากทั่วโลกเพื่อช่วยเหลือกลุ่มประเทศที่ยากลำบากให้เข้าถึงวัคซีนโควิด-19

สหราชอาณาจักรระดมเงิน 1 พันล้านดอลล่าร์จากทั่วโลกช่วยเหลือประเทศที่ยากลำบากให้เข้าถึงวัคซีนโควิด-19 เพื่อหยุดการระบาดของไวรัส

  • การประกาศนี้มีขึ้นขณะที่เลขาธิการสหประชาชาติ นายอันโตนิโอ กูเตอร์เรสเริ่มเยือนสหราชอาณาจักรแบบเสมือนจริงผ่านระบบออนไลน์เนื่องในโอกาสวันครบรอบ 75 ปีขององค์การสหประชาชาติ
  • มีการเปลี่ยนชื่อสนามหญ้า Broad Sanctuary Green ในเวสต์มินสเตอร์เป็นสนาม ‘United Nations Green’ เพื่อระลึกถึงการประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติครั้งแรก ณ เวสต์มินสเตอร์ เซ็นทรัล ฮอลล์ ในกรุงลอนดอนเมื่อปี พ.ศ.2489

สหราชอาณาจักรช่วยระดมเงิน 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 3 หมื่นล้านบาท) ให้โครงการโคแวกซ์ เอเอ็มซี (COVAX Advance Market Commiitment) ทั้งนี้ สหราชอาณาจักรมีนโยบายอุดหนุนเงินบริจาคเพิ่มเป็นสัดส่วนกับผู้บริจาคอื่น ๆ ซึ่งเมื่อรวมกับเงินช่วยเหลือต่างชาติที่รัฐบาลสหราชอาณาจักรประกาศจะให้จำนวน 548 ล้านปอนด์แล้ว จะช่วยให้ทางโครงการสามารถแจกจ่ายวัคซีนไวรัสโคโรนาจำนวน 1 พันล้านโดสไปยังประเทศกำลังพัฒนา 92 ประเทศได้ในปีนี้

การลงทุนครั้งสำคัญนี้จะช่วยยุติการระบาดของโรคและป้องกันการระบาดระลอกใหม่ ช่วยให้โลกสามารถฟื้นตัวจากไวรัสโคโรนากลับมาดียิ่งขึ้น สหราชอาณาจักรใช้งบประมาณสำหรับช่วยเหลือระหว่างประเทศ ความชำนาญทางวิทยาศาสตร์ และอิทธิพลทางการทูตในการส่งเสริมสุขภาพให้ผู้คนทั่วโลก

การประกาศครั้งนี้เกิดขึ้นระหว่างการเยือนกรุงลอนดอนแบบเสมือนจริงผ่านระบบออนไลน์ของเลขาธิการสหประชาชาติ นายอันโตนิโอ กูเตอร์เรส โดยเป็นส่วนหนึ่งของการฉลองครบรอบ 75 ปีขององค์การสหประชาชาติ

ตลอด 75 ปีที่ผ่านมาสหราชอาณาจักรได้มีบทบบาทเป็นผู้นำในการสนับสนุนองค์การสหประชาชาติและเราได้ทำงานร่วมกันเพื่อเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศให้แน่นแฟ้นมากขึ้นเพื่อจัดการกับความท้าทายสูงสุดของโลกในวันนี้ซึ่งมีประเด็นตั้งแต่ไวรัสโคโรนาไปจนถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหราชอาณาจักร นายโดมินิค ราบ กล่าวว่า

เป็นการเหมาะสมแล้วที่ในวันครบรอบ 75 ปีขององค์การสหประชาชาติ สหราชอาณาจักรได้นำความพยายามร่วมกับประเทศพันธมิตรจัดหาวัคซีนไวรัสโคโรนาจำนวน 1 พันล้านโดสให้กับกลุ่มประเทศเปราะบาง

เราจะปลอดภัยจากไวรัสนี้ได้ก็ต่อเมื่อเราทุกคนปลอดภัยกันถ้วนหน้า นี่จึงเป็นเหตุผลให้เรามุ่งหาทางแก้ไขระดับโลกให้แก่ปัญหาระดับโลก

เลขาธิการสหประชาชาติ นายอันโตนิโอ กูเตอร์เรส กล่าวว่า:

ท่ามกลางสงครามโลกครั้งที่สองตอนที่เรายังห่างไกลจากชัยชนะ วินสตัน เชอร์ชิลและแฟรงกลิน รูสเวลต์ ร่วมด้วยผู้นำจีน ฝรั่งเศส สหภาพโซเวียต และมหาอำนาจสัมพันธมิตรอื่น ๆ ในภายหลัง ได้สร้างวิสัยทัศน์อันห้าวหาญที่จะทำให้โลกเป็นอิสระจากความกลัวและความต้องการผ่านการร่วมมือกัน วิสัยทัศน์นี้กลายมาเป็นองค์การสหประชาชาติ และในวันนี้เมื่อ 75 ปีที่แล้ว เราจึงมีการประชุมสมัชชาสหประชาชาติครั้งแรกขึ้น ณ กรุงลอน

ในเวลาแห่งความโกลาหลครั้งใหม่ของโลกนี้ ข้าพเจ้ารู้สึกเป็นเกียรติที่ได้เยือนสหราชอาณาจักรผ่านระบบออนไลน์เสมือนจริงเพื่อรำลึกถึงวันครบรอบการก่อตั้งสหประชาชาติ รื้อฟื้นความมุ่งมั่นของเราในการก้าวข้ามความท้าทายของโลกด้วยกัน และฉลองให้กับสหราชอาณาจักรที่เป็นแรงสำคัญในการก่อตั้งองค์การสหประชาชาติและยังคงเป็นสมาชิกที่สำคัญยิ่งในวันนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งขณะที่เรากำลังจะมีงานประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ COP26 ณ เมืองกลาสโกว์

เมื่อวันที่ 10 มกราคม พ.ศ.2564 ผ่านไป 75 ปีหลังการประชุมสมัชชาสหประชาชาติครั้งแรก ณ กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักรได้จัดงานรำลึกผ่านระบบออนไลน์เพื่อฉลองความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ของสถาบันระดับโลกที่เราไม่เคยมีมาก่อนนี้ และหารือถึงการสร้างความร่วมมือในประเด็นต่าง ๆ รวมถึงเรื่องความเท่าเทียมทางเพศและเรื่องสาธารณสุข โดยในงานออนไลน์นี้มีเลขาธิการองค์การสหประชาชาติ ลอร์ดอาห์มัดซึ่งเป็นรัฐมนตรีสหราชอาณาจักรผู้ดูแลเรื่องสิทธิมนุษยชน และภาคประชาสังคมเข้าร่วมด้วย

งานรำลึกครั้งนี้แสดงให้เห็นถึงบทบาทของสหราชอาณาจักรในการก่อตั้งองค์การสหประชาชาติซึ่งที่ผ่านมาได้ช่วยเจรจายุติความขัดแย้งผ่านความตกลงสันติภาพถึง 172 ฉบับ และสนธิสัญญาระหว่างประเทศกว่า 300 ฉบับ ตั้งแต่อนุสัญญาที่เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนไปจนถึงความตกลงด้านการใช้ประโยชน์จากอวกาศ การค้าอาวุธ และประเด็นด้านมหาสมุทร ปัจจุบันนี้องค์การสหประชาชาติมีภารกิจรักษาสันติภาพจำนวน 12 ภารกิจเพื่อจัดการกับความขัดแย้งรอบโลก

เพื่อเป็นเกียรติอย่างถาวรแก่ผลงานตลอด 75 ปีขององค์การสหประชาชาติ สหราชอาณาจักรได้เปลี่ยนชื่อสนาม ‘Broad Sanctuary Green’ ข้างเวสต์มินสเตอร์ เซ็นทรัล ฮอลล์ ซึ่งเคยเป็นสถานที่จัดการประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติครั้งแรก โดยเปลี่ยนใหม่เป็น ‘United Nations Green’

ในวันจันทร์ที่ 11 มกราคม เลขาธิการสหประชาชาติได้พบหารือทางออนไลน์กับนายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร นายบอริส จอห์นสัน รัฐมนตรีต่างประเทศสหราชอาณาจักร นายโดมินิค ราบ รวมทั้งบรรดารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศและการพัฒนา ได้แก่ ลอร์ดอาห์มัด เจมส์ เคลเวอร์ลี ลอร์ดโกลด์สมิธ และเวนดี มอร์ตัน และว่าที่ประธานการประชุม COP26 นายอล็อก ชาร์มา นอกจากนี้เลขาธิการสหประชาชาติยังได้เข้าหารือทางไกลกับอาร์ชบิชอปแห่งแคนเทอร์เบอรี ผู้นำสูงสุดของศาสนจักรอังกฤษด้วย

ในวันเดียวกันนี้เลขาธิการสหประชาชาติยังได้เข้าร่วมการประชุมโต๊ะกลมว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (COP26) เพื่อหารือประเด็นพลังงานสะอาด โดยมีรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศสหราชอาณาจักร ว่าที่ประธานการประชุม COP26 และรัฐมนตรีจากทั่วโลกเข้าร่วมด้วย นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2554 สหราชอาณาจักรได้ให้เงินช่วยเหลือระหว่างประเทศเพื่อพัฒนาการเข้าถึงพลังงานสะอาดให้แก่ผู้คนกว่า 26 ล้านคนและเรายังมุ่งมั่นจะเพิ่มความช่วยเหลือให้มากขึ้นผ่านการลงทุน 11,600 ล้านปอนด์ (ราว 4.7 แสนล้านบาท) ในโครงการการเงินเพื่อสภาพภูมิอากาศโลก (International Climate Finance) ตั้งแต่เดือนเมษายน พ.ศ. 2564

สำหรับบรรณาธิการ:

  • สหราชอาณาจักรประกาศในที่ประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติเมื่อเดือนกันยายนว่าจะร่วมบริจาค 1 ปอนด์สำหรับการบริจาคทุกๆ 4 ดอลลาร์สหรัฐให้แก่โครงการโคแวค เอเอ็มซี (COVAC AMC) จนกว่ายอดบริจาคจะถึง 250 ล้านปอนด์ (ราว 1 หมื่นล้านบาท) นับตั้งแต่นั้นประเทศอื่นๆ เช่น แคนาดา ญี่ปุ่นและเยอรมนีก็ได้เข้าร่วมโครงการดังกล่าวจนทะลุเป้าหมาย รวมจำนวนเงินที่สหราชอาณาจักรได้บริจาคให้แก่โครงการเป็นเงินทั้งสิ้น 548 ล้านปอนด์ (ราว 2.2 หมื่นล้านบาท)
  • ตั้งแต่วันอาทิตย์ที่ 10 มกราคมถึงวันอังคารที่ 11 มกราคม อาคารกระทรวงการต่างประเทศและการพัฒนาบนถนนคิงชาร์ลส์และอาคารแลงคาสเตอร์เฮ้าส์ได้ฉายไฟสีฟ้าบนอาคารเพื่อรำลึกถึงงานขององค์การสหประชาชาติในการปกป้องชีวิตผู้คน นอกจากนี้ยังได้เชิญธงขององค์การสหประชาชาติขึ้นที่อาคารกระทรวงการต่างประเทศและการพัฒนาบนถนนคิงชาร์ลส์ กรุงลอนดอน
  • ในวันที่ 11 มกราคม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหราชอาณาจักร ประธานการประชุม COP26 และเลขาธิการสหประชาชาติจะเข้าร่วมประชุมโต๊ะกลมว่าด้วยประเด็นสภาพภูมิอากาศผ่านระบบออนไลน์เสมือนจริง โดยจะเน้นเร่งการเปลี่ยนผ่านจากการใช้เชื้อเพลิงประเภทถ่านหินมาสู่การใช้พลังงานสะอาด สหราชอาณาจักรทำงานเพื่อกระชับความร่วมมือระดับนานาชาติในประเด็นการเปลี่ยนผ่านระบบพลังงานซึ่งเป็นหน้าที่หนึ่งในการเป็นประธานการจัดการประชุม COP26 การประชุมโต๊ะกลมนี้มีการถ่ายทอดสด ตั้งแต่เวลา 15.45 - 17.00 น. ตามเวลาอังกฤษ โดยมีการแปลสดเป็นภาษาทางการขององค์การสหประชาชาติทั้ง 6 ภาษา
เผยแพร่เมื่อ 10 January 2021
อัปเดตล่าสุดเมื่อ 12 January 2021 + show all updates
  1. Added translation

  2. First published.