รายงานการศึกษาเรื่อง ”เศรษฐกิจภูมิอากาศแนวใหม่: เศรษฐกิจก้าวไกล ใส่ใจภูมิอากาศ ”
เศรษฐกิจแต่ละประเทศทั่วโลกเติบโตได้ ควบคู่กันไปกับการป้องกันการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ

กรุงเทพฯ – นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาธิการ สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ รับมอบรายงานการศึกษาเรื่อง ”เศรษฐกิจภูมิอากาศแนวใหม่: เศรษฐกิจก้าวไกล ใส่ใจภูมิอากาศ ” (The Better Growth, Better Climate: The New Climate Economy) จาก สถานเอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทย สถานเอกอัครราชทูตนอร์เวย์ประจำประเทศไทย สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐโคลัมเบียประจำประเทศไทย สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐอินโดนีเซียประจำประเทศไทย สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐเกาหลีประจำประเทศไทย พร้อมด้วยผู้แทนจากสถาบันสิ่งแวดล้อมสต็อคโฮล์ม ประเทศสวีเดน และ สถาบันจีจีจีไอ ประเทศเกาหลีใต้ เพื่อนำไปศึกษาวิเคราะห์ก่อนนำเสนอต่อสาธารณชนต่อไป
รายงานเศรษฐกิจภูมิอากาศแนวใหม่ ซึ่งจัดทำโดย คณะกรรมการโลกว่าด้วยเรื่องเศรษฐกิจและภูมิอากาศ (The Global Commission on the Economy and Climate) ตอกย้ำว่ารัฐบาลและภาคธุรกิจสามารถพัฒนาความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจไปพร้อมกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ และได้รับการเปิดเผยอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 16 กันยายน 2557 ที่นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา โดยมีนาย บัน คี มูน เลขาธิการองค์การสหประชาติเป็นผู้รับมอบ รายงานฉบับนี้ยังมีจุดประสงค์เพื่อกระตุ้นให้เกิดการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเทศต่างๆทั่วโลกเกี่ยวกับการเติบโตทางเศรษฐกิจในอนาคตและการดำเนินการเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ก่อนที่จะมีการประชุมสุดยอดด้านการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศของสหประชาชาติ (UN Climate Summit) ในวันที่ 23 กันยายน 2557
ผลการศึกษาพบว่าในระยะเวลาสิบห้าปีต่อจากนี้ เมืองใหญ่ในโลกจะใช้เงินลงทุนจำนวน 9 หมื่นล้านล้านเหรียญสหรัฐในเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน การเกษตรและพลังงาน ซึ่งจะเป็นโอกาสในการลงทุนเพื่อการเติบโตแบบคาร์บอนต่ำ (Low carbon growth) ซึ่งนำไปสู่ประโยชน์ในด้านการสร้างงาน สุขภาพ การผลิตเชิงธุรกิจและคุณภาพชีวิต
ลอร์ด นิโคลัส สเติร์น ประธานร่วมคณะกรรมการโลกว่าด้วยเรื่องเศรษฐกิจและภูมิอากาศกล่าวว่า:
สิ่งที่เราตัดสินใจทำขณะนี้จะเป็นตัวกำหนดอนาคตเศรษฐกิจและภูมิอากาศ ถ้าเราเลือกการลงทุนที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนในปริมาณต่ำ สิ่งที่เราจะได้คือการเติบโตที่มีคุณภาพและเข้มแข็งทั้งในปัจจุบันและอนาคต หากเรายังคงปล่อยก๊าซคาร์บอนในปริมาณที่สูงเช่นนี้ต่อไป การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศจะทำให้เราต้องเสี่ยงที่จะเกิดผลเสียหายร้ายแรงต่อเศรษฐกิจในระยะยาว
รายงานฉบับนี้ระบุว่ายังมีโอกาสในการพัฒนาการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจโดยปล่อยก๊าซคาร์บอนในปริมาณต่ำ ใน 3 ภาคส่วนของเศรษฐกิจโลก ได้แก่
- การบริหารจัดการเมืองใหญ่
- การใช้ที่ดิน และ
- ภาคพลังงาน
ทั้งนี้หน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคธุรกิจต้องปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากร ลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่ดี และเร่งให้เกิดเทคโนโลยีและนวัตกรรมในภาคธุรกิจ
-
เมืองใหญ่ โดยการสร้างเมืองขนาดเล็กๆ ที่เชื่อมโยงด้วยเครือข่าย ระบบขนส่งมวลชนสามารถประหยัดงบลงทุนได้กว่า 3 พันล้านล้านเหรียญสหรัฐ ในช่วงสิบห้าปีข้างหน้า จะมีผลต่อสภาพเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตของประชากรโดยมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนในปริมาณที่ต่ำลง
-
การใช้ที่ดิน การฟื้นฟูที่ดินเสื่อมสภาพเพียงร้อยละ 12 ก็จะสามารถผลิตอาหารสำหรับประชาชน 200 ล้านคน ทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น 4 หมื่นล้านดอลลาร์ต่อปี และยังลดการปล่อยก๊าชเรือนกระจกจากที่ดินที่เสื่อมสภาพ
-
พลังงาน ในขณะที่ราคาพลังงานแสงอาทิตย์และลมลดลงอย่างมาก คาดการณ์ว่ามากกว่าครึ่งหนึ่งของพลังงานที่ใช้ใน 15 ปีข้างหน้าจะเป็นพลังงานหมุนเวียน ทำให้ลดการใช้พลังงานจากการเผาผลาญถ่านหินซึ่งก่อให้เกิดมลภาวะ
-
ประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากร ประหยัดงบประมาณถึง 6 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ที่ใช้ไปกับเชื้อเพลิงฟอลซิล (เปรียบเทียบกับงบประมาณ 1 แสนล้านดอลลาร์หากใช้พลังงานหมุนเวียน) จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานและสามารถนำงบประมาณส่วนนี้ไปแก้ปัญหาความยากจนแทนได้
-
การลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน เครื่องมือทางการเงินใหม่ๆจะช่วยลดต้นทุนพลังงานสะอาดลงได้ถึงร้อยละ 20
-
นวัตกรรม เพิ่มงบประมาณวิจัยและพัฒนาขึ้นเป็นอย่างน้อยร้อยละ .01 ของผลผลิตมวลรวมประชาชาติ จะทำให้เกิดคลื่นลูกใหม่ของนวัฒกรรม รายงานฉบับนี้ชี้ให้เห็นว่าตลาดที่มีการแข่งขันสูงและนโยบายที่เสมอต้นเสมอปลายของภาครัฐมีความสำคัญต่อภาคธุรกิจและนักลงทุนในการสร้างงานที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนต่ำและต่อการเจริญเติบโต
รายงาน เศรษฐกิจก้าวไกล ใส่ใจภูมิอากาศ (Better Growth, Better Climate) นี้ได้ให้ข้อเสนอแนะเป็นแผนปฏิบัติ 10 ประการเพื่อให้ประเทศต่างๆ มีความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจและในขณะเดียวกันยังมีภูมิอากาศที่ปลอดภัยขึ้น วิธีนี้จะทำให้เกิดประโยชน์ทั้งทางเศรษฐกิจที่ดี ก่อนจะเกิดผลดีต่อภูมิอากาศอีกด้วย
คณะกรรมการฯ คาดการณ์ว่าหากมีการดำเนินการตามมาตรการที่เสนอแนะอย่างเต็มที่แล้ว น่าจะสามารถลดการปล่อยก๊าชเรือนกระจกลงได้ร้อยละ 90 ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ ภายในปี พ.ศ. 2573 เพื่อหลีกเลี่ยงภัยที่จะเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ และผู้มีอำนาจตัดสินใจจะต้องเร่งดำเนินการโดยด่วน
ในระยะเวลาหกเดือนนับจากนี้ คณะกรรมการฯ จะหารือกับผู้มีบทบาทด้านเศรษฐกิจทั่วโลก โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อกระตุ้นให้รัฐบาลและภาคธุรกิจร่วมมือกันผลักดันให้เศรษฐกิจเติบโตควบคู่ไปกับการลดการปล่อยก๊าชเรือนกระจก
ข้อมูลเพิ่มเติม
เกี่ยวกับรายงานการศึกษาเรื่อง ”เศรษฐกิจภูมิอากาศแนวใหม่: เศรษฐกิจก้าวไกล ใส่ใจภูมิอากาศ ” ท่านสามารถอ่านรายงานฉบับเต็มได้ที่ www.newclimateeconomy.report