ข่าวสารรอบโลก

อังกฤษจับมือนานาชาติสานต่องานเครือข่ายด้านการปกป้องคุ้มครองเด็ก

ศูนย์ป้องกันการละเมิดทางเพศต่อเด็กออนไลน์ (Child Exploitation and Online Protection Centre) ประเทศอังกฤษ จัดการประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการเกี่ยวกับการป้องกันการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็ก พร้อมเปิดตัวประกาศนียบัตรจากระบบตรวจสอบประวัติผู้กระทำผิดต่อเด็ก

เผยแพร่ภายใต้ 2010 to 2015 Conservative and Liberal Democrat coalition government
Regional Advisory Panel workshop hosted by the UK’s Child Exploitation and Online Protection (CEOP) Centre and the British Embassy

สถานเอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทยและ ศูนย์ป้องกันการละเมิดทางเพศต่อเด็กออนไลน์ Online Protection Centre (CEOP) ซึ่งเป็นศูนย์คุ้มครองเยาวชนแห่งสหราชอาณาจักร จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการด้านการป้องกันการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็ก เป็นเวลา 2 วันเต็ม โดยมีเครือข่ายผู้ทำงานด้านการปกป้องคุ้มครองเด็กและเจ้าหน้าที่ของรัฐและองค์กรต่างๆ จากประเทศเวียดนาม กัมพูชา สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ ลาวและไทย เข้าร่วมการฝึกอบรมในครั้งนี้ โดยมีวัตถุประสงค์ป้องกันมิให้ชาวอังกฤษที่มีประวัติกระทำความผิดล่วงละเมิดเด็กเดินทางไปทำงานยังประเทศต่างๆ โดยเฉพาะงานสอนหรืองานอาสาสมัครที่ทำงานใกล้ชิดกับเด็ก พร้อมเปิดตัวประกาศนียบัตรจากระบบตรวจสอบประวัติผู้กระทำผิดต่อเด็ก

ระบบตรวจสอบประวัติผู้กระทำผิดต่อเด็กนี้จะช่วยในการตรวจสอบประวัติชาวอังกฤษที่เดินทางไปทำงานต่างประเทศ ว่ามีความเหมาะสมที่จะทำงานกับเด็กและเยาวชนหรือไม่ โดยศูนย์ป้องกันการละเมิดทางเพศฯ เผยว่าโรงเรียน หน่วยงานการกุศลและหน่วยงานในประเทศต่างๆ นั้นยังไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลของทางการในระดับที่องค์กรต่างๆ ในสหราชอาณาจักรใช้ตรวจสอบ จึงทำให้เกิดกรณีผู้ที่เคยกระทำผิดและมีคดีล่วงละเมิดต่อเด็กนั้นได้มีโอกาสได้ทำงานใกล้ชิดกับเยาวชน สำหรับประกาศนียบัตรดังกล่าวสามารถค้นหาเกี่ยวกับใบสมัครได้ที่เว็บไซต์ www.acro.police.uk/icpc ซึ่งเป็นเว็บไซต์ของหน่วยงานที่เก็บประวัติอาชญากรรมของสหราชอาณาจักร ทั้งนี้มีรายงานในช่วงระหว่างปี 2551-2555 ว่ามีชาวอังกฤษ 457 คนถูกจับกุมในต่างประเทศในข้อหาล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็ก ซึ่งประเทศที่ผู้กระทำความผิดถูกจับกุมนั้นรวมถึงประเทศเยอรมัน สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส สเปน และประเทศไทย

มร. ปีเตอร์ เดวีส์ ประธานบริหารของศูนย์ป้องกันการละเมิดทางเพศฯ กล่าวว่า

มีหลักฐานชัดเจนชี้ให้เห็นว่าผู้ที่เคยกระทำความผิดและมีคดีล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็ก ซึ่งมีประวัติกับทางการสหราชอาณาจักรนั้นมักจะหาโอกาสทำงานหรือเป็นอาสาสมัครในต่างประเทศ มีหลายครั้งที่ประกอบอาชีพครู หรืออาชีพอื่นๆ เช่น เจ้าหน้าที่องค์กรการกุศล สถานรับเลี้ยงเด็กกำพร้า หรือสถานดูแลเด็ก ประกาศนียบัตรจากระบบตรวจสอบประวัติผู้กระทำผิดต่อเด็กนี้จึงเกิดขึ้นเพื่อให้นายจ้างและองค์กรอาสาสมัครต่างๆ ทั่วโลกมั่นใจได้ว่า ผู้ที่มาสมัครเข้าทำงานนั้นไม่มีประวัติเป็นผู้กระทำผิดล่วงละเมิดเด็กในสหราชอาณาจักรมาก่อน ซึ่งบุคคลที่มีประวัติดังกล่าวไม่เหมาะอย่างยิ่งที่จะทำงานใกล้ชิดกับเยาวชน สำหรับบางองค์กรในต่างประเทศแล้ว นี่คือระบบตรวจสอบเดียวที่เข้าถึงข้อมูลของทางการตำรวจสหราชอาณาจักร ดังนั้นจึงจำเป็นในการตรวจสอบก่อนรับคนเข้าทำงานเพื่อป้องกันการล่วงละเมิดเด็กที่อาจเกิดขึ้นได้

มร. มาร์ค เคนท์ เอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทย กล่าวว่า

การส่งเสริมและปกป้องสิทธิมนุษยชนนั้นเป็นหัวใจสำคัญของนโยบายการต่างประเทศของสหราชอาณาจักร สถานเอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทยได้ร่วมมือกับทางศูนย์ป้องกันการละเมิดทางเพศต่อเด็กออนไลน์แห่งสหราชอาณาจักรในการปกป้องการล่วงละเมิดต่อเด็ก ไม่ให้ผู้มีประวัติกระทำความผิดต่อเด็กเดินทางเข้าออกประเทศ และช่วยงานเครือข่ายปกป้องคุ้มครองเด็ก หรือ CEOP’s International Child Protection Network (ICPN) เรายังได้ร่วมมือกับศูนย์ป้องกันการละเมิดทางเพศฯ ในการชี้ตัวผู้มีแนวโน้มเข้าข่ายกระทำผิดทางเพศต่อเด็ก และมิให้เดินทางข้ามประเทศได้ ตามเห็นสมควร และยังประชาสัมพันธ์ให้เกิดความตระหนักในเรื่องการปกป้องคุ้มครองเด็กและการค้ามนุษย์จากประเทศไทย ประกาศนียบัตรจากระบบตรวจสอบประวัติผู้กระทำผิดต่อเด็กนี้นับเป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมืออย่างต่อเนื่องเพื่อการปกป้องคุ้มครองเด็กในประเทศไทยและสหราชอาณาจักรเราเชื่อว่าหน้าที่ของเราในการปกป้องคุ้มครองเด็กจากการถูกล่วงละเมิดนั้นมิได้หยุดแค่เพียงอาณาเขตของสหราชอาณาจักรเท่านั้น ความปลอดภัยและการปกป้องคุ้มครองเด็กนั้นเป็นพื้นฐานของความร่วมมือนี้ เราอยากจะมั่นใจได้ว่าเราได้ทำทุกสิ่งเพื่อให้เยาวชนได้เรียนในสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย

ด้าน มร. เกร็ก วัทคินส์ กรรมการผู้จัดการหอการค้าอังกฤษแห่งประเทศไทย กล่าวว่า

ทางหอการค้าอังกฤษตระหนักดีว่า ภาคเอกชนนั้นมีบทบาทสำคัญในการปกป้องคุ้มครองเด็ก โดยส่งเสริมให้เกิดความตระหนักในหมู่พนักงานและลูกค้า และโดยให้ความรู้แก่ชุมชนที่บริษัทต่างๆ นั้นดำเนินธุรกิจอยู่ ประกาศนียบัตรจากระบบตรวจสอบประวัติผู้กระทำผิดต่อเด็กนี้จะช่วยให้บริษัทเอกชนและองค์กรต่างๆ อาทิ โรงเรียนนานาชาติ มีเครื่องมือในการตรวจสอบว่าพนักงานและลูกจ้างในอนาคตนั้นไม่มีความผิดในคดีความล่วงละเมิดเด็กในสหราชอาณาจักร

การประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้นับเป็นการสานต่อเครือข่ายปกป้องคุ้มครองเด็กที่ทางศูนย์ป้องกันการละเมิดทางเพศฯ ได้ริเริ่มขึ้น ทั้งนี้ยังได้รับการสนับสนุนจากสถานเอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทย ความร่วมมือในระดับประเทศและนานาประเทศระหว่างหน่วยงานของรัฐ องค์กรอิสระ และภาคเอกชนนี้เองที่ทำให้ทางศูนย์ป้องกันการละเมิดทางเพศฯ นอกจากจะป้องกันไม่ให้ผู้ที่เคยกระทำความผิดและมีคดีล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กเดินทางมาประเทศไทยได้แล้ว ยังสามารถสร้างความตระหนักรู้ให้เกิดขึ้นในหมู่เยาวชนเกี่ยวกับความเสี่ยงต่อการถูกล่วงละเมิดอีกด้วย

นอกจากนี้ หอการค้าอังกฤษในประเทศไทยยังมีบทบาทสำคัญ โดยในปี 2553 นั้นได้ลงนามบันทึกความเข้าใจและความร่วมมือระหว่างหอการค้าอังกฤษฯ และศูนย์ป้องกันการละเมิดทางเพศฯ โดยมีบริษัทเอกชนได้เข้าสนับสนุนร่วมรณรงค์การปกป้องคุ้มครองเด็ก อาทิ บริษัท Property Care Services (PCS) บริษัท GlaxoSmithKline (Thailand) Ltd ธนาคาร HSBC สายการบิน British Airways บริษัท เชลล์ประเทศไทย บริษัทManpower โรงแรม Grand Hyatt ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) จำกัด และบริษัท Mackenzie Smith เป็นต้น

เผยแพร่เมื่อ 6 March 2013