ข่าวสารรอบโลก

กระทรวงพาณิชย์จับมือสถานเอกอัครราชทูตอังกฤษนำร่องใช้บล็อกเชนบริหารทรัพย์สินทางปัญญา

สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) ร่วมกับ สถานเอกอัครราชทูตอังกฤษจัดงานประชุมเพื่อนำเสนอร่างผลการศึกษาความเป็นไปได้ในการใช้บล็อกเชนบริหารจัดการทรัพย์สินทางปัญญา

Focus group on enhancing intellectual property management by blockchain

Focus group: Enhancing intellectual property management by blockchain

วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2562 สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ ร่วมกับ สถานเอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทย เป็นเจ้าภาพจัดงานประชุมเพื่อนำเสนอ (ร่าง) ผลการศึกษาความเป็นไปได้ในการใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนบริหารจัดการทรัพย์สินทางปัญญาสู่เชิงพาณิชย์ โดยมีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นที่ปรึกษาฯ

ฯพณฯ นายไบรอัน เดวิดสัน เอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทย กล่าวว่าอังกฤษสนับสนุนการเปิดตลาดและการค้าเสรี รวมทั้งการใช้เทคโนโลยีในการยกระดับเศรษฐกิจการค้า ซึ่งบล็อกเชนเป็นหนึ่งในเทคโนโลยีที่สถานทูตอังกฤษให้การสนับสนุนในการยกระดับเศรษฐกิจการค้าของไทย โดยเชื่อมั่นในศักยภาพของเทคโนโลยีบล็อกเชนที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับเศรษฐกิจการค้าได้อย่างกว้างขวาง รวมถึงการบริหารจัดการทรัพย์สินทางปัญญา สู่เชิงพาณิชย์ด้วย ทั้งนี้ สถานเอกอัครราชทูตอังกฤษยินดีที่ได้สนับสนุนงบประมาณและทำงานอย่างใกล้ชิดร่วมกับกระทรวงพาณิชย์และมหาวิทยาเกษตรศาสตร์ในโครงการศึกษาครั้งนี้

นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กล่าวว่าบล็อกเชนเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่จะมาปฏิวัติเศรษฐกิจและสังคมในยุคดิจิทัล โดยคุณลักษณะเด่นของบล็อกเชน เช่น เพิ่มความโปร่งใสในระบบ ส่งข้อมูลไปยังหน่วยในเชนได้พร้อมกันหลายหน่วย ปลอมแปลงแก้ไขได้ยาก รวมทั้งช่วยเสริมสร้างความไว้วางใจ (Trust Building) ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยส่งเสริมการค้าสมัยใหม่ โดยเฉพาะการค้าออนไลน์รูปแบบต่างๆ สนค. เล็งเห็นถึงความเป็นไปได้ในการนำบล็อกเชนมาใช้ในงานของกระทรวงพาณิชย์หลายอย่าง เช่น การจดทะเบียน (registration) การสร้างระบบตรวจสอบย้อนกลับ (traceability) การจดแจ้งความเป็นเจ้าของ (ownership) การสร้างความมั่นใจให้ e-commerce เป็นต้น การใช้บล็อกเชนในงานกระทรวงจะช่วยลดปัญหาความไม่โปร่งใส ลดกรณีพิพาทระหว่างคู่สัญญา และลดต้นทุนการประกอบธุรกิจของ SME และผู้ประกอบ การค้าต่างๆ สนค. จึงดำเนินโครงการศึกษาความเป็นไปได้ในการนำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาใช้ในงานกระทรวง 3 โครงการ ซึ่งวันนี้เป็นการนำเสนอโครงการประยุกต์ใช้บล็อกเชนกับการบริหารทรัพย์สินทางปัญญา ตั้งแต่การจดทะเบียน การคุ้มครอง และการส่งเสริมการใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสถานทูตอังกฤษประจำประเทศไทย และมีศาสตราจารย์ ดร.อาณัติ ลีมัคเดช ผู้อำนวยการศูนย์ทรัพย์สินทางปัญญาและบ่มเพาะวิสาหกิจ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นที่ปรึกษาโครงการฯ

ศาสตราจารย์ ดร.อาณัติ ลีมัคเดช กล่าวว่าบล็อกเชนเป็นเทคโนโลยีที่ช่วยในการจัดเก็บข้อมูลธุรกรรมแบบกระจายศูนย์ สามารถจัดเก็บข้อมูลประเภทต่างๆ บนเครือข่ายโดยมั่นใจได้ว่าข้อมูลที่จัดเก็บจะมีความถูกต้อง ครบถ้วน ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้ และยังสามารถตรวจสอบได้ ดังนั้น เทคโนโลยีบล็อกเชนจึงเหมาะกับการนำมาประยุกต์ใช้ในงานทรัพย์สินทางปัญญา ทั้งในด้านการจัดเก็บข้อมูลเชิงทะเบียนและธุรกรรมของงานทรัพย์สินทางปัญญาที่ต้องการหลักฐานการแสดงความเป็นเจ้าของสิทธิที่เชื่อมั่นได้ว่าเป็นของจริงถูกต้อง ไม่ถูกเปลี่ยนแปลงและสามารถตรวจสอบได้ พิสูจน์และยืนยันตัวบุคคลที่เป็นผู้ทำธุรกรรมด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ การสร้างสัญญาอัจฉริยะหรือ Smart Contract เพื่อสร้างข้อตกลงอัตโนมัติระหว่างคู่สัญญา และระบบการชำระเงิน เพื่อรองรับการโอนหรือชำระเงินดิจิทัลผ่าน Smart Contract ในอนาคต ทั้งนี้ การพัฒนาระบบต่างๆ ยังต้องอาศัยเทคโนโลยีด้านอื่นเข้ามาสนับสนุนการทำงานของระบบบล็อกเชนด้วย ไม่ว่าจะเป็นปัญญาประดิษฐ์ (AI: Artificial Intelligence) หรือการเชื่อมต่ออุปกรณ์ต่างๆ เข้ากับอินเทอร์เน็ต (IoT : Internet of Things) รวมทั้งเทคโนโลยีจดจำ/ตรวจสอบรูปภาพ (Image Recognition) เซ็นเซอร์ตรวจจับความเคลื่อนไหว (Motion Sensor) ระบบระบุตำแหน่งบนพื้นโลก (GPS : Global Position System) เป็นต้น

สำหรับข้อเสนอความเป็นไปได้ในการพัฒนาต้นแบบการใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนในการบริหารทรัพย์สินทางปัญญา สู่เชิงพาณิชย์นั้น จากการศึกษาพบว่ามีสิ่งที่ดำเนินการต่อได้อย่างน้อย 8 โครงการ ทั้งระยะสั้น (Quick Win 1 ปี) และระยะถัดไป (2-3 ปี) โดยในระยะสั้น เสนอให้นำร่องการนำข้อมูลทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาที่มีอยู่ในระบบตลาดกลางทรัพย์สินทางปัญญา (IP Mart) ของกรมทรัพย์สินทางปัญญา เข้าสู่ฐานข้อมูลบล็อกเชน และการศึกษาและพัฒนามาตรฐานกลางการจดแจ้งลิขสิทธิ์ผลงานวรรณกรรม โดยสามารถร่วมมือกับผู้ให้บริการ e-Book พัฒนามาตรฐานสำหรับเก็บข้อมูลลิขสิทธิ์บนบล็อกเชน ตัวอย่างโครงการในระยะถัดไป เช่น การประเมินมูลค่าทรัพย์สินทางปัญญา โครงการพัฒนาระบบการจดทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) และระบบตรวจสอบย้อนกลับออนไลน์ นอกจากนี้ มีข้อเสนอเพื่อพัฒนาระบบบริหารจัดการข้อมูลทรัพย์สินทางปัญญาบนเครือข่ายบล็อกเชน ทั้งสิทธิบัตร เครื่องหมายการค้าและลิขสิทธิ์ รองรับการจดทะเบียน การโอนสิทธิ์ การอนุญาตให้ใช้สิทธิ์ การนำทรัพย์สินทางปัญญาไปใช้เป็นหลักประกันทางธุรกิจ และการบังคับหลักประกันทางธุรกิจด้วย

สนค. จะหารือกับหน่วยงานที่รับผิดชอบและผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้องถึงความเป็นไปได้ในการดำเนินการต่อไป โดยหวังว่าข้อเสนอดังกล่าวจะได้รับความร่วมมือและนำไปประยุกต์ใช้ เพื่อพัฒนาทรัพย์สินทางปัญญาและธุรกิจไทยสู่เศรษฐกิจยุคใหม่ในอนาคต” นางสาวพิมพ์ชนกกล่าว

เผยแพร่เมื่อ 4 March 2019