อังกฤษจับมือนานาชาติสานต่องานเครือข่ายด้านการปกป้องคุ้มครองเด็ก
ศูนย์ป้องกันการละเมิดทางเพศต่อเด็กออนไลน์ (Child Exploitation and Online Protection Centre) ประเทศอังกฤษ จัดการประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการเกี่ยวกับการป้องกันการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็ก พร้อมเปิดตัวประกาศนียบัตรจากระบบตรวจสอบประวัติผู้กระทำผิดต่อเด็ก

สถานเอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทยและ ศูนย์ป้องกันการละเมิดทางเพศต่อเด็กออนไลน์ Online Protection Centre (CEOP) ซึ่งเป็นศูนย์คุ้มครองเยาวชนแห่งสหราชอาณาจักร จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการด้านการป้องกันการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็ก เป็นเวลา 2 วันเต็ม โดยมีเครือข่ายผู้ทำงานด้านการปกป้องคุ้มครองเด็กและเจ้าหน้าที่ของรัฐและองค์กรต่างๆ จากประเทศเวียดนาม กัมพูชา สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ ลาวและไทย เข้าร่วมการฝึกอบรมในครั้งนี้ โดยมีวัตถุประสงค์ป้องกันมิให้ชาวอังกฤษที่มีประวัติกระทำความผิดล่วงละเมิดเด็กเดินทางไปทำงานยังประเทศต่างๆ โดยเฉพาะงานสอนหรืองานอาสาสมัครที่ทำงานใกล้ชิดกับเด็ก พร้อมเปิดตัวประกาศนียบัตรจากระบบตรวจสอบประวัติผู้กระทำผิดต่อเด็ก
ระบบตรวจสอบประวัติผู้กระทำผิดต่อเด็กนี้จะช่วยในการตรวจสอบประวัติชาวอังกฤษที่เดินทางไปทำงานต่างประเทศ ว่ามีความเหมาะสมที่จะทำงานกับเด็กและเยาวชนหรือไม่ โดยศูนย์ป้องกันการละเมิดทางเพศฯ เผยว่าโรงเรียน หน่วยงานการกุศลและหน่วยงานในประเทศต่างๆ นั้นยังไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลของทางการในระดับที่องค์กรต่างๆ ในสหราชอาณาจักรใช้ตรวจสอบ จึงทำให้เกิดกรณีผู้ที่เคยกระทำผิดและมีคดีล่วงละเมิดต่อเด็กนั้นได้มีโอกาสได้ทำงานใกล้ชิดกับเยาวชน สำหรับประกาศนียบัตรดังกล่าวสามารถค้นหาเกี่ยวกับใบสมัครได้ที่เว็บไซต์ www.acro.police.uk/icpc ซึ่งเป็นเว็บไซต์ของหน่วยงานที่เก็บประวัติอาชญากรรมของสหราชอาณาจักร ทั้งนี้มีรายงานในช่วงระหว่างปี 2551-2555 ว่ามีชาวอังกฤษ 457 คนถูกจับกุมในต่างประเทศในข้อหาล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็ก ซึ่งประเทศที่ผู้กระทำความผิดถูกจับกุมนั้นรวมถึงประเทศเยอรมัน สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส สเปน และประเทศไทย
มร. ปีเตอร์ เดวีส์ ประธานบริหารของศูนย์ป้องกันการละเมิดทางเพศฯ กล่าวว่า
มีหลักฐานชัดเจนชี้ให้เห็นว่าผู้ที่เคยกระทำความผิดและมีคดีล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็ก ซึ่งมีประวัติกับทางการสหราชอาณาจักรนั้นมักจะหาโอกาสทำงานหรือเป็นอาสาสมัครในต่างประเทศ มีหลายครั้งที่ประกอบอาชีพครู หรืออาชีพอื่นๆ เช่น เจ้าหน้าที่องค์กรการกุศล สถานรับเลี้ยงเด็กกำพร้า หรือสถานดูแลเด็ก ประกาศนียบัตรจากระบบตรวจสอบประวัติผู้กระทำผิดต่อเด็กนี้จึงเกิดขึ้นเพื่อให้นายจ้างและองค์กรอาสาสมัครต่างๆ ทั่วโลกมั่นใจได้ว่า ผู้ที่มาสมัครเข้าทำงานนั้นไม่มีประวัติเป็นผู้กระทำผิดล่วงละเมิดเด็กในสหราชอาณาจักรมาก่อน ซึ่งบุคคลที่มีประวัติดังกล่าวไม่เหมาะอย่างยิ่งที่จะทำงานใกล้ชิดกับเยาวชน สำหรับบางองค์กรในต่างประเทศแล้ว นี่คือระบบตรวจสอบเดียวที่เข้าถึงข้อมูลของทางการตำรวจสหราชอาณาจักร ดังนั้นจึงจำเป็นในการตรวจสอบก่อนรับคนเข้าทำงานเพื่อป้องกันการล่วงละเมิดเด็กที่อาจเกิดขึ้นได้
มร. มาร์ค เคนท์ เอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทย กล่าวว่า
การส่งเสริมและปกป้องสิทธิมนุษยชนนั้นเป็นหัวใจสำคัญของนโยบายการต่างประเทศของสหราชอาณาจักร สถานเอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทยได้ร่วมมือกับทางศูนย์ป้องกันการละเมิดทางเพศต่อเด็กออนไลน์แห่งสหราชอาณาจักรในการปกป้องการล่วงละเมิดต่อเด็ก ไม่ให้ผู้มีประวัติกระทำความผิดต่อเด็กเดินทางเข้าออกประเทศ และช่วยงานเครือข่ายปกป้องคุ้มครองเด็ก หรือ CEOP’s International Child Protection Network (ICPN) เรายังได้ร่วมมือกับศูนย์ป้องกันการละเมิดทางเพศฯ ในการชี้ตัวผู้มีแนวโน้มเข้าข่ายกระทำผิดทางเพศต่อเด็ก และมิให้เดินทางข้ามประเทศได้ ตามเห็นสมควร และยังประชาสัมพันธ์ให้เกิดความตระหนักในเรื่องการปกป้องคุ้มครองเด็กและการค้ามนุษย์จากประเทศไทย ประกาศนียบัตรจากระบบตรวจสอบประวัติผู้กระทำผิดต่อเด็กนี้นับเป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมืออย่างต่อเนื่องเพื่อการปกป้องคุ้มครองเด็กในประเทศไทยและสหราชอาณาจักรเราเชื่อว่าหน้าที่ของเราในการปกป้องคุ้มครองเด็กจากการถูกล่วงละเมิดนั้นมิได้หยุดแค่เพียงอาณาเขตของสหราชอาณาจักรเท่านั้น ความปลอดภัยและการปกป้องคุ้มครองเด็กนั้นเป็นพื้นฐานของความร่วมมือนี้ เราอยากจะมั่นใจได้ว่าเราได้ทำทุกสิ่งเพื่อให้เยาวชนได้เรียนในสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย
ด้าน มร. เกร็ก วัทคินส์ กรรมการผู้จัดการหอการค้าอังกฤษแห่งประเทศไทย กล่าวว่า
ทางหอการค้าอังกฤษตระหนักดีว่า ภาคเอกชนนั้นมีบทบาทสำคัญในการปกป้องคุ้มครองเด็ก โดยส่งเสริมให้เกิดความตระหนักในหมู่พนักงานและลูกค้า และโดยให้ความรู้แก่ชุมชนที่บริษัทต่างๆ นั้นดำเนินธุรกิจอยู่ ประกาศนียบัตรจากระบบตรวจสอบประวัติผู้กระทำผิดต่อเด็กนี้จะช่วยให้บริษัทเอกชนและองค์กรต่างๆ อาทิ โรงเรียนนานาชาติ มีเครื่องมือในการตรวจสอบว่าพนักงานและลูกจ้างในอนาคตนั้นไม่มีความผิดในคดีความล่วงละเมิดเด็กในสหราชอาณาจักร
การประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้นับเป็นการสานต่อเครือข่ายปกป้องคุ้มครองเด็กที่ทางศูนย์ป้องกันการละเมิดทางเพศฯ ได้ริเริ่มขึ้น ทั้งนี้ยังได้รับการสนับสนุนจากสถานเอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทย ความร่วมมือในระดับประเทศและนานาประเทศระหว่างหน่วยงานของรัฐ องค์กรอิสระ และภาคเอกชนนี้เองที่ทำให้ทางศูนย์ป้องกันการละเมิดทางเพศฯ นอกจากจะป้องกันไม่ให้ผู้ที่เคยกระทำความผิดและมีคดีล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กเดินทางมาประเทศไทยได้แล้ว ยังสามารถสร้างความตระหนักรู้ให้เกิดขึ้นในหมู่เยาวชนเกี่ยวกับความเสี่ยงต่อการถูกล่วงละเมิดอีกด้วย
นอกจากนี้ หอการค้าอังกฤษในประเทศไทยยังมีบทบาทสำคัญ โดยในปี 2553 นั้นได้ลงนามบันทึกความเข้าใจและความร่วมมือระหว่างหอการค้าอังกฤษฯ และศูนย์ป้องกันการละเมิดทางเพศฯ โดยมีบริษัทเอกชนได้เข้าสนับสนุนร่วมรณรงค์การปกป้องคุ้มครองเด็ก อาทิ บริษัท Property Care Services (PCS) บริษัท GlaxoSmithKline (Thailand) Ltd ธนาคาร HSBC สายการบิน British Airways บริษัท เชลล์ประเทศไทย บริษัทManpower โรงแรม Grand Hyatt ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) จำกัด และบริษัท Mackenzie Smith เป็นต้น