ข่าวสารรอบโลก

โครงการ MOBILIST ของสหราชอาณาจักร สนับสนุนการเสนอขายหุ้นครั้งแรกของธนาคารไทยเครดิต

โครงการ MOBILIST ของรัฐบาลสหราชอาณาจักรส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างครอบคลุมในไทยผ่านการสนับสนุนการเสนอขายหุ้นครั้งแรกของธนาคารในไทย

โครงการ MOBILIST ของรัฐบาลสหราชอาณาจักรร่วมส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างครอบคลุมและร่วมพัฒนาตลาดเงินทุนในไทย ผ่านการสนับสนุนให้ธนาคารไทยเครดิตได้เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET)

เมื่อเช้าวันศุกร์ที่ 9 กุมภาพันธ์ 2567 หุ้นของธนาคารไทยเครดิตเริ่มซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยหลังจากที่มีการเสนอขายหุ้นครั้งแรก (IPO) ด้วยการสนับสนุนจากโครงการ MOBILIST ของกระทรวงการต่างประเทศและการพัฒนาของสหราชอาณาจักร ร่วมกับผู้ร่วมลงทุนหลักอย่างบรรษัทการเงินระหว่างประเทศ (IFC) และธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (ADB)  ธนาคารไทยเครดิตเสนอขายหุ้นจำนวน 254,124,200 หุ้น ที่ราคา 29 บาทต่อหุ้น คิดเป็นมูลค่าการเสนอขายหุ้นครั้งแรกที่ 7,370 ล้านบาท

ธนาคารไทยเครดิตนับเป็นธนาคารที่จดทะเบียนในประเทศไทยแห่งเดียวที่มุ่งเน้นให้บริการสินเชื่อนาโน ไมโครเครดิต และธุรกิจไมโครเอสเอ็มอี รวมทั้งเป็นสถาบันทางการเงินแห่งแรกในไทยที่ให้บริการในภาคธุรกิจนี้ที่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ธุรกิจไมโครเอสเอ็มอีมีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจไทย แต่มักเผชิญความท้าทายในการเข้าถึงเงินทุนจากธนาคารพาณิชย์ทั่วไป ธนาคารไทยเครดิตจะใช้เงินทุนที่ได้จากการเปิดซื้อขายหุ้นเป็นครั้งแรกนี้เพื่อให้สินเชื่อแก่ธุรกิจไมโครเอสเอ็มอีต่าง ๆ รวมทั้ง ธุรกิจที่มีผู้หญิงเป็นเจ้าของ และธุรกิจในพื้นที่ชนบท ธนาคารไทยเครดิตจดทะเบียนในกลุ่มธุรกิจการเงิน/ธนาคาร  และซื้อขายภายใต้ชื่อย่อ “CREDIT”

นายมาร์ค กูดดิ้ง เอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทยกล่าวว่า “การที่ธนาคารไทยเครดิตได้เข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์เป็นการช่วยให้ทางธนาคารสามารถขยายสินเชื่อให้กับธุรกิจและบุคคลที่อาจไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนจากภาคธนาคารทั่วไปได้ และยังไม่เพียงแต่ช่วยส่งเสริมการมีส่วนร่วมทางการเงินให้ครอบคลุม แต่ยังสนับสนุนการสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจและสร้างอาชีพ สหราชอาณาจักรยินดีที่ได้สนับสนุนการเสนอขายหุ้นในครั้งนี้ และมีส่วนช่วยในการขับเคลื่อนเงินทุนในระดับที่จะช่วยให้เราบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนได้อีกด้วย”

การเสนอขายหุ้นเป็นครั้งแรกของธนาคารไทยเครดิตยังสร้างผลกระทบในด้านการพัฒนาเป็นวงกว้าง โดยแสดงให้เห็นว่าตลาดการเงินสาธารณะสามารถช่วยให้สถาบันการเงินเพื่อการพัฒนา exit กระบวนการการลงทุน ด้าน MOBILIST และนักลงทุนรายอื่น ๆ สามารถซื้อหุ้นที่ปัจจุบันถือผ่านกลไกการลงทุนในหุ้นนอกตลาด ซึ่งมีสถาบันเพื่อการพัฒนาทางการเงิน (DFI) อย่าง DEG เป็นผู้ถือหุ้น

นายรอส เฟอร์กูสัน หัวหน้าโครงการ MOBILIST ของกระทรวงการต่างประเทศและการพัฒนาของสหราชอาณาจักร กล่าวว่า “การที่ MOBILIST ได้เข้าร่วมการเสนอขายหุ้นครั้งแรก (IPO) นี้เป็นตัวอย่างสำคัญในการใช้เงินลงทุนที่มุ่งเน้นผลให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมมากกว่าผลตอบแทนทางการเงิน (catalyst capital) ในการช่วยสถาบันเพื่อการพัฒนาทางการเงินได้ ‘exit mobilisation’  โดยใช้กลไกการจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ รูปแบบการลงทุนเช่นนี้จะช่วยให้สถาบันเพื่อการพัฒนาทางการเงินสามารถลงทุนในหุ้นนอกตลาด ปลดล็อกเงินทุนสำหรับการลงทุนใหม่ ๆ ในขณะที่เปิดโอกาสให้นักลงทุนจากสถาบันต่าง ๆ และนักลงทุนรายย่อยสามารถเข้าถึงสินทรัพย์ในการสร้างกลุ่มหลักทรัพย์ลงทุนที่สนับสนุนเป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน”

การเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ของธนาคารไทยเครดิตเป็นตัวอย่างให้กับบริษัทอื่น ๆ ที่มุ่งเน้นให้บริการธุรกิจไมโครเอสเอ็มอีในพื้นที่อื่น ๆ หรือแม้แต่สถาบันเพื่อการพัฒนาทางการเงินที่มีสินทรัพย์คล้ายกันได้ดำเนินการตาม เนื่องจากสินเชื่อธุรกิจไมโครเอสเอ็มอีเป็นเครื่องมือที่ช่วยอุดช่องว่างทางการเงินเพื่อการพัฒนา

นางสาวเจน หยวน ซู่ ผู้จัดการระดับประเทศของไทยและเมียนมา บรรษัทเงินทุนระหว่างประเทศ กล่าวว่า “การให้ความสำคัญกับธุรกิจไมโครเอสเอ็มอี รวมทั้งที่มีผู้หญิงเป็นเจ้าของ มีความสำคัญยิ่งต่อการพัฒนาเศรษฐกิจให้มีความครอบคลุมและยั่งยืน ด้วยเหตุนี้ การมีส่วนร่วมของบรรษัทเงินทุนระหว่างประเทศในฐานะนักลงทุนคนสำคัญในการเปิดขายหุ้นเป็นครั้งแรกจะช่วยเสริมสร้างความมั่นใจในหมู่นักลงทุน ส่งเสริมบทบาทของสตรี ส่งเสริมการเติบโตของธุรกิจเอสเอ็มอี และเร่งการสร้างอาชีพ เงินทุนที่ช่วยสนับสนุนในภาคส่วนที่มักขาดโอกาสในการเข้าถึงเงินทุนนี้จะช่วยไทยในการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังการระบาดของโรคโควิด-19 และส่งเสริมศักยภาพด้านการฟื้นตัวของประเทศต่อไป”

นายวิญญู ไชยวรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารไทยเครดิตกล่าวว่า “การที่ธนาคารไทยเครดิตสามารถจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์จะช่วยเพิ่มความมั่นใจให้กับนักลงทุนในสภาพการณ์ทางเศรษฐกิจและการลงทุนที่มีความผันผวน การเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์จะมีส่วนช่วยสนับสนุนแผนของธนาคารในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อส่งเสริมความพึงพอใจของลูกค้าและประสิทธิผลของบริษัท ผ่านการขยายส่วนแบ่งทางการตลาดไปยังภาคส่วนธุรกิจหลักของธนาคาร ทางธนาคารไทยเครดิตจะยังคงมุ่งเน้นการพัฒนาสินทรัพย์และมองหาหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ต่อไป เพื่อเสริมสร้างผลิตภัณฑ์ของธนาคาร ประสบการณ์ของลูกค้า และพัฒนาการเข้าถึงกลุ่มลูกค้าอย่างมีประสิทธิภาพ”

เผยแพร่เมื่อ 9 February 2024